Pages - Menu

2557/07/23

มรดกโลกในไทย 5 : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

ประเภท : มรดกโลกทางธรรมชาติ
ปีที่ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2534
ชื่อเป็นทางการ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) 
ที่ตั้ง : จังหวัด กาญจนบุรี ตาก และอุทัยธานี ประเทศไทย 
เรียบเรียง : นัชรี  อุ่มบางตลาด / กรรณิการ์  ยศตื้อ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries)

ความเป็นมา

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) เป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ หรือกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร

 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นแกนกลางของกลุ่มป่าตะวันตกซึ่งเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายหลักของประเทศหลายสาย เช่น แม่กลอง สาละวิน สะแกกรัง ท่าจีน และบางส่วนของเจ้าพระยา และเป็นผืนป่าธรรมชาติที่รวบรวมไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ มีความงดงามตามธรรมชาติและมีความสมบูรณ์ของระบบชีววิทยา


ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่น รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำรายงานรวบรวมความสำคัญของป่าผืนนี้ เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้พิจารณาประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เพื่อเชิดชูและร่วมกันดูแลรักษาให้เกิดความยั่งยืน ในคราวประชุมเพื่อคัดเลือกแหล่งมรดกโลก เมื่อ วันที่ 9 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ ประเทศตูนีเซีย และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการดังกล่าว นับเป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก  ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ รวม 3 ประการ คือ

(1) มีความโดดเด่นเป็นเลิศในด้านวิวัฒนาการทางชีวภาพ ชีวาลัย เป็นพิเศษของโลก เพราะประกอบด้วยระบบนิเวศ ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคซุนเดอิก (Sundaic) ภูมิภาคอินโด - เบอร์มิส (Indo - Burmese) ภูมิภาคอินโด - ไชนิส (Indo - Chinese) และภูมิภาคไซโน - หิมาลายัน (Sino - Himalayan)

(2) เป็นแหล่งธรรมชาติพิเศษ ที่เป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญหลายสายของประเทศ มีป่าไม้นานาชนิด ประกอบด้วย เทือกเขา เนินเขา ตลอดจนทุ่งหญ้า ลักษณะทั้งหมดจึงมีคุณค่าในด้านวิทยาศาสตร์ มีความงดงาม ทางธรรมชาติที่หาได้ยากแห่งหนึ่งของโลก

(3) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่หายาก หรืออยู่ในภาวะที่อันตรายแต่ยังสามารถดำรงพันธุ์อยู่ได้ ซึ่งรวมถึงเป็นระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ


อาณาเขตของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ทอดยาวอยู่บนแนวเทือกเขาถนนธงชัยเชื่อมต่อกับตอนเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี  ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

ภาพจาก : ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก กระทรวงวัฒนธรรม  http://www.thaiwhic.go.th/heritage_nature.asp

1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก และด้านตะวันออก
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  อยู่ในเขตอำเภอสังขละบุรี  อำเภอทองผาภูมิ  จังหวัดกาญจนบุรี  และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ตั้งอยู่ตอนล่างของเทือกเขาถนนธงชัย ประกอบด้วยทิวเขาใหญ่น้อยหลายทิวเขาด้วยกัน วางพาดจากเหนือสู่ใต้ และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารที่สำคัญเช่น แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ พื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีความสูงโดยเฉลี่ยมีความสูงอยู่ที่ ประมาณ 800 - 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดมีความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ได้รับการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอย่างเป็นทางการ  เมื่อวันที่  24  เมษายน  2517  มีเนื้อที่ทั้งสิ้น  2,000,000  ไร่  หรือ  3,200  ตารางกิโลเมตร  โดยให้ชื่อว่า  “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร” เนื่องจากมติของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้เพิ่มคำว่านเรศวรเข้าไป  เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในปี  พ.ศ.  2534  ได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมทางตอนใต้ของแนวเขตเดิม อยู่ในพื้นที่ของตำบลชะแล  อำเภอทองผาภูมิ  จังหวัดกาญจนบุรี  ทำให้เนื้อที่รวมของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเพื่มเป็น 2,279,500  ไร่  นับเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเนื่องจากมีขนาดกว้างใหญ่มาก เพื่อให้สามารถดูแลพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง จึงถูกแบ่งพื้นที่ในการบริหารจัดการภายในกรมป่าไม้ทั้งด้านอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณแยกออกจากกันอย่างชัดเจนออกเป็น  2  พื้นที่ คือ

ภาพจาก http://loft.co.th/sajapong/journey/ทุ่งใหญ่นเรศวร/
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก  อยู่ในพื้นที่ตำบลชะแล  อำเภอทองผาภูมิ  กับตำบลโล่โว่  อำเภอสังขละบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี  เนื้อที่  1,326,852.88 ไร่

- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก  พื้นที่บางส่วนอยู่ในพื้นที่  ตำบลแม่จัน  และตำบลแม่ละมุ้ง  อำเภออุ้มผาง  พื้นที่ประมาณ 948,438ไร่ 

2. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
พื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ตำบลคอกควาย ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนของจังหวัดตาก ในท้องที่ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีแนวเขตติดกับแนวเขตจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี รวมมีพื้นที่ทั้งหมด 1,737,587 ไร่ (2,780.14 ตารางกิโลเมตร)
ภาพจาก : http://www.22nor4x4.com/forum/index.php?topic=2008.0

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย มีลักษณะเป็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อนค่อนข้างยาวจากเหนือถึงใต้ ประกอบด้วยสันเขาน้อยใหญ่หลายสันเขาด้วยกันโดยเฉพาะทางตอนเหนือของพื้นที่ของจังหวัดตาก สภาพภูมิประเทศลาดเทไปทางตอนใต้ และมีที่ราบ ไม่กว้างขวางมากนักริมสองฝั่งลำห้วยขาแข้ง ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง”  สูง 1,678 เมตร อยู่ตอนบนสุดของพื้นที่ และมียอดเขาที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น ยอดเขาใหญ่  ยอดเขาน้ำเย็น ยอดเขาเขียว ยอดเขาปลายห้วยน้ำเย็น ยอดเขาปลายห้วยไทรใหญ่ เป็นต้น ยอดเขาเหล่านี้อยู่บนทิวเขาสองเทือกเขาที่ขนานกันไปจากเหนือลงใต้ โดยมีลำห้วยขาแข้งเป็นแนวแบ่งตรงกลางพื้นที่ มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง นอกจากลำห้วยหลักดังกล่าวแล้วยังมีห้วยแยกขนาดเล็กๆ อีกมากมาย แยกขึ้นรับน้ำจากทุกส่วนของพื้นที่หลายสายทำให้ลำห้วยขาแข้งมีน้ำไหลตลอดปี

ภาพจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร http://www.seub.or.th

ความสำคัญ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง นับเป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอาณาเขตอันกว้างใหญ่หลายล้านไร่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นตัวแทนแสดงลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญของผืนป่าในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภูมิศาสตร์ ถึง 4 เขต คือ ไซโน-หิมาลายัน (Sino-Himalayan) อินโด-เบอร์มิส (Indo-burmese) อินโด-ไชนิส (Indo-chinese) และซุนเดอิก (Sundaic) รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นตัวแทนระบบนิเวศป่าเขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์และปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สัตว์ป่าในเเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
 ภาพจาก : http://atsuwong.blogspot.com/2011/04/blog-post_23.html

สัตว์ป่าในเเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ภาพจาก : ttp://whc.unesco.org/en/list/591

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2534 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเป็นมรดกโลก โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ 3 ข้อที่ ดังนี้ 
(viii) เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด  ในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทางธรณีวิทยา หรือวิวัฒนาการทางชีววิทยาและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
(ix) เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
(x) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย


อ้างอิง : 
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง. สำนักงานมรดกโลกทางธรรมชาติ ทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง. “มรดกโลกทางธรรมชาติ”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.huaikhakhaeng.net/wheritage/index.html  (10 กรกฎาคม 2557).

มูลนิธิสืบนาคะ เสถียร. “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&
id=125:westforest&catid=34:17-&Itemid=41 (10 กรกฎาคม 2557).

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  (10 กรกฎาคม 2557)

ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม . “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_nature.aspx  (10 กรกฎาคม 2557).

7 ความคิดเห็น:

  1. เยอะมาก เขียนจนมือหยิกเลย

    ตอบลบ
  2. ควรจัดระเบียบใหม่ห้ามชนกลุ่มน้อยหรือชนเผ่าทุกๆเผ่าแยกออกมาจากป่าคือไม่ให้ชนเผ่าต่างๆอยู่ใกล้กับป่ามรดกโลกเพราะชนเผ่าคือตัวรุกป่าคือตัวทำลายป่าคือตัวชี้โพรงให้กระรอกคอยชี้ช่องทางให้พวกนายทุนไปตัดป่า

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ช่วงพศ.2507ก็ได้ยินข่าวดังของชนเผ่ากระเหรี่ยงบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยแล้วครับท่าน

      ลบ
  3. ดีมากครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ1/3/60 10:14

    เยี่ยมเลยค่ะ ได้ศึกษาข้อมูลที่เรียบเรียงมา เป็นประโยชน์ต่อการทำงานกับพื้นที่นี้มากๆ ค่ะ หากมีการอัพเดทเรื่อยๆ ก็จะขอบคุณและจะติดตามอ่านนะคะ

    ตอบลบ
  5. อยากให้ทุกๆคนช่วยกันคับ

    ตอบลบ