มรดกโลก (World Heritage Site)
โดยองค์การยูเนสโกได้เริ่มทำการคัดเลือกสถานที่ที่เป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 มรดกโลกแต่ละแห่งเป็นทรัพย์สินของประเทศที่เป็นเจ้าของดินแดนที่มรดกโลกนั้นตั้งอยู่ แต่ได้ถูกพิจารณาให้เป็นผลประโยชน์ของประชาคมระหว่างประเทศในการอนุรักษ์มรดกโลกแห่งนั้น
ในปัจจุบัน (กรกฎาคม 2558) มีมรดกโลกทั้งหมด 1,031 แห่ง ใน 163 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 802 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 197 แห่ง และอีก 32 แห่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท
ขั้นตอนการเสนอชื่อสถานที่เป็นมรดกโลก
- ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรมทั้งหมดภายในประเทศของตน เรียกว่า บัญชีรายชื่อเบื้องต้น(Tentative List) ขึ้นมาก่อน และสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้แล้วเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ
- ประเทศที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะต้องคัดเลือกสถานที่มาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้น และจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูล (Nomination File) เพื่อยื่นต่อองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณา ได้แก่ สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites) และ สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ (World Conservation Union) ทั้งสององค์กรจะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก
- คณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่ควรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือทางคณะกรรมการอาจร้องขอให้ประเทศที่เสนอชื่อได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เพิ่มเติม โดยการพิจารณาว่าสถานที่ที่ขอขึ้นทะเบียนนั้น มีลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ
ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
สถานที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์อย่างน้อย 1 ข้อ โดยองค์กรยูเนสโก มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา (พ.ศ. 2548) ทั้งหมด 10 ข้อ โดยแบ่งเป็นเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม 6 ข้อ (หลักเกณฑ์ข้อที่ 1-6) และหลักเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติ 4 (หลักเกณฑ์ข้อที่ 6-10) ดังนี้หลักเกณฑ์สำหรับมรดกโลกทางวัฒนธรรม มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทั้งหมด 6 ข้อ
(i) เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
(ii) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
(iv) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
(v) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา
หลักเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติ มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทั้งหมด 4 ข้อ
(vi) มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
หลักเกณฑ์สำหรับมรดกโลกทางธรรมชาติ มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทั้งหมด 4 ข้อ
(vii) เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่างๆในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก
(viii) เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
(ix) เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
(x) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
อ้างอิง :
ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม “หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลก” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/convention.aspx#a4 (13 ธันวาคม 2556)
วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิพิเดีย. “มรดกโลก” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/มรดกโลก (19 สิงหาคม 2558)
UNESCO World Heritage Centre. “The Criteria for Selection” [Online].
Available http://whc.unesco.org/en/criteria/ (13 December 2013).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น