รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam)
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อทางการ : รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam)ออกเสียงตามภาษามาลายูว่า เนการาบรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam)
มีความหมายว่า ดินแดนแห่งความสงบสุข
อักษรย่อชื่อประเทศ : BN, BRN
อักษรย่อในระบบโดเมนอินเทอร์เน็ต : .bn
คำขวัญของประเทศ : น้อมรับใช้ตามแนวทางของพระอัลเลาะห์เสมอ (Always in service with God's guidance)
วันชาติ : วันที่ 23 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่บรูไนพ้นจากการเป็นประเทศในอารักขาของสหราชอาณาจักร และได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527
มัสยิด Sultan Omar Ali Saifuddin Mosque เป็น Landmarks ที่ชื่อเสียงแห่งหนึ่งของบรูไน
ภาพจาก : Wikimedia Commons
เมืองหลวง : บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan) เป็นทั้งเมืองหลวง และเมืองท่าสำคัญของประเทศ
จำนวนประชากร : ประมาณ 429,646 คน (กรกฏาคม 2558 ข้อมูลจาก The World Factbook)
ภาษา : ภาษาราชการคือ ภาษามาเลย์ (Malay หรือ Bahasa Melayu) รองลงมาเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ใช้กันทั่วไปทั้งในราชการ การค้า
สัญลักษณ์ของประเทศ
ธงชาติ : ธงชาติของรัฐบรูไนดารุสซาลามแบบที่ใช้ในปัจจุบัน ประกาศใช้อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2502 มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเหลือง มีอัตราส่วน 2:3 ภายในมีแถบสีขาวและสีดำวางพาดตามแนวทแยงจากมุมซ้ายบนไปยังมุมล่างด้านปลายธง โดยสีขาวอยู่บน สีดำอยู่ล่าง ตรงกลางธงนั้นมีภาพตราแผ่นดินของบรูไนดารุสซาลาม- พื้นธงสีเหลือง หมายถึงกษัตริย์ (ธงประจำพระองค์ของสุลต่านแห่งบรูไน ใช้ธงพื้นสีเหลือง)
- สีขาวและสีดำ หมายถึงมุขมนตรีของประเทศบรูไน
- ราชธวัช (ธง) และพระกลด (ร่ม) หมายถึง สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม
- ปีกนก 4 ขน หมายถึง การพิทักษ์ความยุติธรรม ความสงบ ความเจริญ และสันติสุขของชาติ
- มือสองข้างที่ชูขึ้น หมายถึง หน้าที่ของรัฐบาลที่จะยกระดับความมั่งคั่ง สันติสุข และความวัฒนาถาวรให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
- ซีกวงเดือนหงาย หมายถึง ศาสนาอิสลาม อันป็นศาสนาประจำชาติ
- ภายในวงเดือนซึ่งหงายขึ้น มีข้อความภาษาอาหรับ แปลได้ว่า "น้อมรับใช้ตามแนวทางของพระอัลเลาะห์เสมอ" ("Always in service with God's guidance") เบื้องล่างสุดมีแพรแถบจารึกชื่อประเทศไว้ว่า บรูไนดารุสซาลาม
ดอก Simpor
คำกล่าวทักทาย : ซาลามัต ดาตัง (Salamat Datang)
สภาพทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้งและอาณาเขต :ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว ชายฝั่งทางด้านเหนือจรดทะเลจีนใต้ พรมแดนทางบกถูกล้อมรอบด้วย รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซียพื้นที่ มีขนาดพื้นที่ 5,765 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 171 ของโลก
ภูมิประเทศ : พื้นที่ร้อยละ 70 เป็นป่าไม้เขตร้อน ภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลและที่ราบหุบเขา พื้นที่ชายฝั่งสูงเป็นภูเขาทางทิศตะวันออก และเนินเขาต่ำทางทิศตะวันตก
ภูมิอากาศ : อากาศร้อนชื้น ฝนตกเกือบตลอดปี อุณหภูมิประมาณ 24 -32 องศาเซลเซียส
ทรัพยากรธรรมชาติ : น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และป่าไม้
เวลา : UTC+8 หรือเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง
การเมืองการปกครอง
การปกครอง : ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐธรรมนูญปัจจุบันซึ่งแก้ไขล่าสุดเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 กำหนดให้สุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ คือเป็นทั้งประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงกคลัง นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นชาวบรูไนเชื้อสายมาเลย์โดยกำเนิด และจะต้องเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่
การแบ่งเขตการปกครอง : ประเทศบรูไนแบ่งการปกครองระดับบนสุดออกเป็น 4 เขต (daerah) คือ
เขตบรูไน-มัวรา
เขตเบอไลต์
เขตตูตง
เขตเติมบูรง
ประมุข : สุลต่าน องค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 29
สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาเลาะห์ (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah)
ผู้นำรัฐบาล : นายกรัฐมนตรี สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาเลาะห์ ดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
ศาสนาและวัฒนธรรม
ส่วนใหญ่นับศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ 67% ศาสนาพุทธนิกายมหายาน 13% ศาสนาคริสต์ 10% ศาสนาฮินดู ความเชื่อพื้นเมือง และอื่นๆ 10%บรูไน นับถือศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด จึงห้ามการดื่มสุราในที่สาธารณะ และไม่มีการจำหน่ายสุรา
สตรีชาวบรูไนจะแต่งกายมิดชิด นุ่งกระโปรงยาว เสื้อแขนยาว และมีผ้าโพกศีรษะ คนต่างชาติ จึงไม่ควรนุ่งกระโปรงสั้น และใส่เสื้อไม่มีแขน
สภาพเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจโดยรวม : บรูไน มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ภายใต้การดูแลของรัฐบาล มีรายได้ประชากรต่อหัวประมาณ 40,858 เหรียญสหรัฐ (ข้อมูลปี พ.ศ. 2556) เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับสามในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย และผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับสี่ของโลกรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมูลค่ากว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยส่งออกไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า หากไม่พบแหล่งน้ำมันใหม่ในอนาคต ปริมาณน้ำมันสำรองของบรูไนจะหมดลงภายใน 25 ปี รัฐบาลจึงกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเริ่มกระจายการผลิต และส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ เช่น พัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและเครื่องดิ่ม อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างฝีมือภายในประเทศ ต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศเป็นหลัก คาดว่ามีแรงงานไทยอยู่ในบรูไนประมาณ 18,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานในการก่อสร้าง
สินค้าออก : น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น อาเซียน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย
สินค้าเข้า : เครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร เช่น ข้าวและผลไม้ ส่วนใหญ่นำเข้าจาก อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
สกุลเงิน : ดอลลาร์บรูไน (Brunei Dollar : BND) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์บรูไน ประมาณ 25.5 บาท (สิงหาคม 2558)
ธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์บรูไน
ความสัมพันธ์กับไทย
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรูไนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบรูไนดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด ทั้งสองฝ่ายมีความใกล้ชิดโดยเฉพาะระดับพระราชวงศ์ และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงอยู่เสมอ ทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ไม่มีความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ เป็นพันธมิตรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบพหุภาคีอื่น ๆ
เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด
สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
นัชรี อุ่มบางตลาด
สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. กระทรวงพาณิชย์. 2553. "ข้อมูลพื้นฐาน บรูไนดารุสซาลาม" เอกสารสารประกอบคำบรรยาย งานสัมมนา International Trade Day:AEC. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www2.moc.go.th/more_news.php?cid=206 (20 มิถุนายน 2558).
กรมเอเชียตะวันออก. กระทรวงการต่างประเทศ. 2558. "จับตาเอเซียตะวันออก, ข้อมูลประเทศและเศรษฐกิจในภูมิภาค, บรูไน" [ระบบออนไลน์] . แหล่งที่มา http://www.eastasiawatch.in.th/information.php?id=8 (30 สิงหาคม 2558).
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. “ประเทศบรูไน” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศบรูไน (10 กรกฎาคม 2557).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น