2558/12/02

ประเทศสมาชิกอาเซียน : กัมพูชา

ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

ข้อมูลพื้นฐาน

ชื่อทางการ : ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

อักษรย่อชื่อประเทศ
: KH, KHM 

อักษรย่อในระบบโดเมนอินเทอร์เน็ต
: .kh 

คำขวัญของประเทศ
: ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

วันชาติ
: 9 พฤศจิกายน (เป็นวันที่ได้รับเอกราชจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศฝรั่งเศสมาเป็นเวลานานถึง 90 ปี)

อนุสาวรีย์อิสรภาพ ในกรุงพนมเปญ
ภาพจาก tourismcambodia.org
อนุสาวรีย์อิสรภาพ ในกรุงพนมเปญ เป็นสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรมในแบบของนครวัด มีความสูง 20 เมตร สร้างในปี พ.ศ. 2501 เพื่อเฉลิมฉลองการเป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศส

เมืองหลวง : กรุงพนมเปญ (Phnom Penh) เป็นเมืองหลวง และเมืองที่ใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางแหล่งอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมหลัก รวมไปถึง เป็นศูนย์กลางของการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและศูนย์ราชการของประเทศ 

เมืองสำคัญ
:
- จังหวัดกัมปงจาม เป็นแหล่งเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าว ยางพารา และเป็นเมืองการค้าที่สำคัญ
- จังหวัดเสียมราฐ เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมเนื่องจากเป็นที่ตั้งของนครวัดและนครธมซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก 
- จังหวัดพระตะบอง เป็นเมืองอู่ข้าวและศูนย์กระจายสินค้า 
- จังหวัดพระสีหนุ เป็นเมืองท่าการค้าและการท่องเที่ยว 

จำนวนประชากร
: ประมาณ 15.7 ล้านคน (ข้อมูลประมาณการเมื่อมิถุนายน 2558 จาก The Word Factbook ) กว่าร้อยละ 90 มีเชื่้อชาติเขมร  ชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศได้แก่ชาวเวียดนาม ร้อยละ 5 และชาวจีน ร้อยละ 1  นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อยเชื้อสายไทยในจังหวัดเกาะกง ชาวจามในจังหวัดกำปงจามและจังหวัดกระแจะ ชาวลาวในจังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดสตึงแตรง และชนเผ่าทางตอนเหนือต่อชายแดนประเทศลาวที่เรียกรวม ๆ ว่า เขมรเลอ

ภาษา
: ภาษาราชการคือ ภาษาเขมร นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งตกทอดมาจากยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส ปัจจุบันยังมีการเรียนการสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน และยังมีใช้ในรัฐบาลบางวาระโดยเฉพาะในศาล

สัญลักษณ์ของประเทศ

ธงชาติ : มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ผืนธงแบ่งตามแนวยาวเป็น 3 ริ้ว โดยริ้วกลางนั้นเป็นพื้นสีแดง กว้าง 2 ส่วน มีรูปปราสาทหินนครวัดสามยอดสีขาวอยู่ตรงกลาง ริ้วที่อยู่ด้านนอกทั้งสองด้านนั้นกว้างริ้วละ 1 ส่วน พื้นสีน้ำเงิน ความหมายของสัญลักษณ์ในธงนั้นสะท้อนถึง 3 สถาบันหลักของประเทศ ดังปรากฏในคำขวัญประจำชาติว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
พื้นสีแดง หมายถึง ชาติ
ปราสาทนครวัดสีขาว หมายถึง สันติภาพและศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์

ตราแผ่นดิน
: เป็นรูปฉลองพระองค์ครุยคลุมพานแว่นฟ้า อัญเชิญพระแสงขรรค์ และเครื่องหมายอุณาโลม ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมี มีลายช่อต่อออกมาจากกรรเจียกจรทั้งสองข้าง อยู่เหนือรูปดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งกัมพูชา และมีรูปลายก้านขดอยู่ใต้รูปฉลองพระองค์ครุยอีกชั้นหนึ่ง ถัดมาทางด้านข้างทั้ง 2 ด้านขนาบด้วยรูปฉัตร 5 ชั้น ซึ่งประคองโดยคชสีห์ทางด้านซ้าย และราชสีห์ทางด้านขวา เบื้องล่างสุดของรูปทั้งหมดเป็นแพรแถบแสดงข้อความว่า มีความหมายว่า "พระเจ้ากรุงกัมพูชา"

ความหมายของสัญลักษณ์ในดวงตรา
- รัศมีที่เปล่งออกมาจากพระมหามงกุฎ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมเขมร
- ฉัตร 5 ชั้นทั้งสองคัน หมายถึง พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี
- พระแสงขรรค์ หมายถึง พระราชอำนาจและความยุติธรรม
- ราชสิห์และคชสีห์ หมายถึง ปวงชนชาวกัมพูชาผู้ค้ำจุนราชบัลลังก์

คำกล่าวทักทาย : ซัวสเด (ซัวซะไดย)

ดอกไม้ประจำชาติ
: ดอก Rumdul (คนไทยเรียก ดอกลำดวน หรือ หอมนวล) เป็นดอกไม้ขนาดเล็ก มีสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็น ต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-12 เมตร สามารถพบได้เกือบทุกที่ในประเทศกัมพูชา นิยมปลูกเป็นไม้ตกแต่งในสวนสาธารณะ
ดอกลำดวน ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา

สภาพทางภูมิศาสตร์

ที่ตั้งและอาณาเขต  : ราชอาณาจักรกัมพูชาตั้งอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน และอยู่ในกลางภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ดังนี้
  • ทิศเหนือ : ติดกับประเทศไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (แขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสัก)
  • ทิศตะวันออก : ติดกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เขตจังหวัดคอมทูก จังหวัดเปลกู จังหวัดการ์ลัด และจังหวัดกวางติ๊ด)
  • ทิศตะวันตก : ติดกับประเทศไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด)
  • ทิศใต้ : ติดกับอ่าวไทย

พื้นที่ : มีขนาดพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 90 ของโลก (ข้อมูลจากการจัดอันดับประเทศตามขนาดพื้นที่โดย The World Factbook)
มีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย และเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็กที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน พื้นที่แบ่งเป็นพื้นดิน 176,520 ตารางกิโลเมตร และพื้นน้ำ 4,515ตารางกิโลเมตร
และมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว 798 กิโลเมตร

ภูมิประเทศ : กัมพูชามีลักษณะภูมิประเทศคล้ายอ่างขนาดใหญ่ ตรงกลางประเทศเป็นทะเลสาบและลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้บริเวณตอนกลางของประเทศมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ กัมพูชามีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน คือ
ทิศตะว้นออกเป็นเทือกเขาอันนัม เป็นพรมแดนระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา
ด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ มีเทือกเขาพนมดงรัก เป็นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
ด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ราบลุ่มน้ำโขง

แม่น้ำ/ทะเลสาบที่สำคัญ :
แม่น้ำโขง
ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคกลางของกัมพูชา และไหลผ่านเข้าเขตประเทศเวียนนาม เฉพาะส่วนที่ไหลผ่านกัมพูชามีความยาวประมาณ 500 กิโลเมตร
แม่น้ำบาสัก (Bassac)
แม่น้ำโขงตอนล่างตั้งแต่กรุงพนมเปญลงไปแยกออกเป็นสองสาย ด้านตะวันออกเฉียงเหนือยังเรียกว่า “แม่โขง” ส่วนสายที่อยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้เรียกว่า “แม่น้ำบาสัก” ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระมหาราชวังกรุงพนมเปญ มีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร
แม่น้ำทะเลสาบ
เป็นแม่น้ำที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาบ โตนเลสาบ (Tonle sap) มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร น้ำในแม่น้ำโขงจะไหลผ่านแม่น้ำสายนี้ลงสู่ โตนเลสาบ
ทะเลสาบ "โตนเลสาบ (Tonle Sap)"
เป็นทะเลน้ำจืดธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 100 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กำปงธม กำปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ เป็นแหล่งทรัพยากรอาหารอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นชลประทานที่สำคัญในการประกอบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประมงของกัมพูชา ในฤดูน้ำหลากทะเลสาบแห่งนี้จะมีพื้นที่น้ำท่วมถึง 7,500 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบ 7 เท่าของกรุงเทพฯ ลึกถึง 10 เมตร ในโตนเลสาบมีปลาชุกชุมกว่า 300 ชนิด

ทะเลสาบ โตนเลสาบ
ภูมิอากาศ : อากาศร้อนชื้น และมีฤดูฝนยาวนาน อุณหภูมิเฉลี่ย 20-36 องศาเซลเซียส

ทรัพยากรธรรมชาติ : ได้แก่ อัญมนีและแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ฟอสเฟต บ๊อกไซต์ ซิลิคอน ถ่านหิน แมงกานีส และไม้สัก กัมพูชาเป็นประเทศที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มาก แต่หลังจากที่มีการเปิดสัมปทานป่าไม้แล้ว ทำให้ในปัจจุบันป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในบริเวณรอบทะเลสาปเขมร เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เวลา :  UTC +7 หรือเท่ากับเวลาของประเทศไทย

การเมืองการปกครอง

การปกครอง : ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ว่า พระมหากษัตริย์กัมพูชาต้องเป็นสมาชิกของราชวงศ์อายุไม่น้อยกว่า 30 ปีและต้องสืบสายเลือดมาจากนักองค์ด้วง กษัตริย์นโรดมหรือกษัตริย์ศรีสวัสดิ์เท่านั้น

การแบ่งเขตการปกครอง : แบ่งเป็น ราชธานี และจังหวัด ดังนี้
ราชธานี 1 แห่ง คือ พนมเปญ

จังหวัด 24 จังหวัด ได้แก่
1) กระแจะ 2) แกบ 3) เกาะกง 4) กันดาล 5) กัมปงจาม 6) กัมปงชนัง 7) กัมปงธม 8) กัมปงสะปือ 9) กัมปอต 10) ตาแก้ว 11) รัตนคีรี 12) พระวิหาร 13) พระตะบอง 14) โพธิสัตว์ 15) บันเตียเมียนเจย 16) ไปรเวง 17) มณฑลคีรี 18) สตึงเตรง 19) สวายเรียง 20) เสียมราฐ 21) อุดรมีชัย 22) ไพลิน 23) พระสีหนุ และ 24) ตบูงขมุม (แยกออกมาจากจังหวัดกัมปงจาม เมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556)

แต่ละจังหวัดจะมีศูนย์กลางการปกครองเรียกว่า “กรุง”
นอกจากนี้ยังมีเมืองสำคัญที่มีฐานะเป็น “กรุง” อีก 3 แห่ง คือ กรุงปอยเปต (จังหวัดบันเตียเมียเจย) กรุงบาเว็ต (จ.สวายเรียง) และ กรุงสวง (จ.กำปงจาม)
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ
นโรดม สีหมุนี
ประมุข : พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี (Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni)

การสืบราชสันตติวงศ์ของกัมพูชา ไม่เหมือนกับระบบกษัตริย์ส่วนใหญ่ในประเทศอื่น ๆ คือ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถเลือกผู้ที่จะมาสืบราชสันตติวงศ์ได้ด้วยตัวเอง  ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่คือ สภาราชบังลังก์ (Royal Council of the Throne) ประกอบด้วยสมาชิก ดังนี้
1) ประธานสภารัฐสภา แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
2) นายกรัฐมนตรี
3) พระสังฆราชศาสนาพุทธฝ่ายมหานิกาย
4) พระสังฆราช ศาสนาพุทธ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
5) รองประธานรัฐสภาคนที่หนึ่ง และ
6) รองประธานสภาคนที่สอง
โดยจะมีจัดการประชุมขึ้นในสัปดาห์ที่พระมหากษัตริย์สวรรคตหรือไม่สามารถปฎิบัติพระราชกรณียกิจได้ต่อไป และจะทำการเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่จากรายชื่อผู้สิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์และเป็นสมาชิกราชวงศ์
สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน

ผู้นำรัฐบาล : สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Predei Techo Hun Sen








ศาสนาและวัฒนธรรม :

ศาสนาประจำชาติของประเทศกัมพูชา ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ถึงร้อยละ 96
ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนท์ ส่วนผู้นับถือศาสนาอิสลามนั้นเป็นกลุ่มผู้ที่มีเชื้อสายจามและเชื้อสายมลายู

ประชาชนกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีวัดอยู่ทั่วประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทย
และมีประวัติศาสตร์และอารยะธรรมอันยาวนาน นครวัดและนครธมนับเป็นสิ่งก่อสร้างที่อัศจรรย์ชิ้นหนึ่งของโลก ศิลปวัฒนธรรมที่งดงามของกัมพูชามีความคล้ายคลึงกันมากกับศิลปวัฒนธรรมไทย ภาษาเขมรมาจากรากศัพท์สันสกฤต จึงมีคำหลายคำในภาษาเขมรที่คล้ายคลึงกับภาษาไทย

นครวัด (ภาพจาก : commons.wikimedia.org)

สภาพเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโดยรวม : กัมพูชามีภาวะสงครามภายในประเทศต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศทดถอย จนถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุดประเทศหนึ่ง จนกระทั่งสงครามภายในสิ้นสุดลงในปี 2534 และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสังคมนิยมเป็นระบบประชาธิปไตย ได้มีการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้น รัฐบาลมุ่งหวังการพัฒนาด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากยิ่งขึ้น รายได้ประชาชาติต่อหัว 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าออก : เสื้อผ้า สิ่งทอ ไม้ ยางพารา ข้าว ปลา ยาสูบ และรองเท้า

สินค้าเข้า :  ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม บุหรี่ ทองคำ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร ยานพาหนะ และยา

สกุลเงิน : เรียล (Riel : KHR) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 114 เรียล (สิงหาคม 2558)

ความสัมพันธ์กับไทย

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2493
กัมพูชาและไทยมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน มีความสัมพันธ์ในระดับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนบริเวณแนวชายแดนที่ใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และเครื่องอุปโภคบริโภคในปริมาณมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามีความผกผันบ่อยครั้ง โดยมีสาเหตุจากสถานการณ์การเมืองภายใน การปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชน และปัญหาพื้นที่ชายแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธพื้นที่ทับซ้อนกัน ได้มีความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดน โดยมีคณะกรรมการเขตแดนร่วมและคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วม เป็นกลไกสำคัญในการดูแลและแก้ไขปัญหาชายแดนทางบก

เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด
สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :

กรมเอเชียตะวันออก. กระทรวงการต่างประเทศ. 2558. "จับตาเอเซียตะวันออก, ข้อมูลประเทศและเศรษฐกิจในภูมิภาค, ราชอาณาจักรกัมพูชา" [ระบบออนไลน์] . แหล่งที่มา http://www.eastasiawatch.in.th/information.php?id=1 (16 สิงหาคม 2558).

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. “ประเทศกัมพูชา” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดของประเทศกัมพูชา  (10 กรกฎาคม 2558).

พินสุดา วงศ์อนันต์. ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ราชอาณาจักรกัมพูชา.-- กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2556.