2558/12/02

ประเทศสมาชิกอาเซียน : กัมพูชา

ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

ข้อมูลพื้นฐาน

ชื่อทางการ : ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

อักษรย่อชื่อประเทศ
: KH, KHM 

อักษรย่อในระบบโดเมนอินเทอร์เน็ต
: .kh 

คำขวัญของประเทศ
: ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

วันชาติ
: 9 พฤศจิกายน (เป็นวันที่ได้รับเอกราชจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศฝรั่งเศสมาเป็นเวลานานถึง 90 ปี)

อนุสาวรีย์อิสรภาพ ในกรุงพนมเปญ
ภาพจาก tourismcambodia.org
อนุสาวรีย์อิสรภาพ ในกรุงพนมเปญ เป็นสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรมในแบบของนครวัด มีความสูง 20 เมตร สร้างในปี พ.ศ. 2501 เพื่อเฉลิมฉลองการเป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศส

เมืองหลวง : กรุงพนมเปญ (Phnom Penh) เป็นเมืองหลวง และเมืองที่ใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางแหล่งอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมหลัก รวมไปถึง เป็นศูนย์กลางของการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและศูนย์ราชการของประเทศ 

เมืองสำคัญ
:
- จังหวัดกัมปงจาม เป็นแหล่งเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าว ยางพารา และเป็นเมืองการค้าที่สำคัญ
- จังหวัดเสียมราฐ เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมเนื่องจากเป็นที่ตั้งของนครวัดและนครธมซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก 
- จังหวัดพระตะบอง เป็นเมืองอู่ข้าวและศูนย์กระจายสินค้า 
- จังหวัดพระสีหนุ เป็นเมืองท่าการค้าและการท่องเที่ยว 

จำนวนประชากร
: ประมาณ 15.7 ล้านคน (ข้อมูลประมาณการเมื่อมิถุนายน 2558 จาก The Word Factbook ) กว่าร้อยละ 90 มีเชื่้อชาติเขมร  ชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศได้แก่ชาวเวียดนาม ร้อยละ 5 และชาวจีน ร้อยละ 1  นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อยเชื้อสายไทยในจังหวัดเกาะกง ชาวจามในจังหวัดกำปงจามและจังหวัดกระแจะ ชาวลาวในจังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดสตึงแตรง และชนเผ่าทางตอนเหนือต่อชายแดนประเทศลาวที่เรียกรวม ๆ ว่า เขมรเลอ

ภาษา
: ภาษาราชการคือ ภาษาเขมร นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งตกทอดมาจากยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส ปัจจุบันยังมีการเรียนการสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน และยังมีใช้ในรัฐบาลบางวาระโดยเฉพาะในศาล

สัญลักษณ์ของประเทศ

ธงชาติ : มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ผืนธงแบ่งตามแนวยาวเป็น 3 ริ้ว โดยริ้วกลางนั้นเป็นพื้นสีแดง กว้าง 2 ส่วน มีรูปปราสาทหินนครวัดสามยอดสีขาวอยู่ตรงกลาง ริ้วที่อยู่ด้านนอกทั้งสองด้านนั้นกว้างริ้วละ 1 ส่วน พื้นสีน้ำเงิน ความหมายของสัญลักษณ์ในธงนั้นสะท้อนถึง 3 สถาบันหลักของประเทศ ดังปรากฏในคำขวัญประจำชาติว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
พื้นสีแดง หมายถึง ชาติ
ปราสาทนครวัดสีขาว หมายถึง สันติภาพและศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์

ตราแผ่นดิน
: เป็นรูปฉลองพระองค์ครุยคลุมพานแว่นฟ้า อัญเชิญพระแสงขรรค์ และเครื่องหมายอุณาโลม ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมี มีลายช่อต่อออกมาจากกรรเจียกจรทั้งสองข้าง อยู่เหนือรูปดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งกัมพูชา และมีรูปลายก้านขดอยู่ใต้รูปฉลองพระองค์ครุยอีกชั้นหนึ่ง ถัดมาทางด้านข้างทั้ง 2 ด้านขนาบด้วยรูปฉัตร 5 ชั้น ซึ่งประคองโดยคชสีห์ทางด้านซ้าย และราชสีห์ทางด้านขวา เบื้องล่างสุดของรูปทั้งหมดเป็นแพรแถบแสดงข้อความว่า มีความหมายว่า "พระเจ้ากรุงกัมพูชา"

ความหมายของสัญลักษณ์ในดวงตรา
- รัศมีที่เปล่งออกมาจากพระมหามงกุฎ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมเขมร
- ฉัตร 5 ชั้นทั้งสองคัน หมายถึง พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี
- พระแสงขรรค์ หมายถึง พระราชอำนาจและความยุติธรรม
- ราชสิห์และคชสีห์ หมายถึง ปวงชนชาวกัมพูชาผู้ค้ำจุนราชบัลลังก์

คำกล่าวทักทาย : ซัวสเด (ซัวซะไดย)

ดอกไม้ประจำชาติ
: ดอก Rumdul (คนไทยเรียก ดอกลำดวน หรือ หอมนวล) เป็นดอกไม้ขนาดเล็ก มีสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็น ต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-12 เมตร สามารถพบได้เกือบทุกที่ในประเทศกัมพูชา นิยมปลูกเป็นไม้ตกแต่งในสวนสาธารณะ
ดอกลำดวน ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา

สภาพทางภูมิศาสตร์

ที่ตั้งและอาณาเขต  : ราชอาณาจักรกัมพูชาตั้งอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน และอยู่ในกลางภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ดังนี้
  • ทิศเหนือ : ติดกับประเทศไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (แขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสัก)
  • ทิศตะวันออก : ติดกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เขตจังหวัดคอมทูก จังหวัดเปลกู จังหวัดการ์ลัด และจังหวัดกวางติ๊ด)
  • ทิศตะวันตก : ติดกับประเทศไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด)
  • ทิศใต้ : ติดกับอ่าวไทย

พื้นที่ : มีขนาดพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 90 ของโลก (ข้อมูลจากการจัดอันดับประเทศตามขนาดพื้นที่โดย The World Factbook)
มีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย และเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็กที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน พื้นที่แบ่งเป็นพื้นดิน 176,520 ตารางกิโลเมตร และพื้นน้ำ 4,515ตารางกิโลเมตร
และมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว 798 กิโลเมตร

ภูมิประเทศ : กัมพูชามีลักษณะภูมิประเทศคล้ายอ่างขนาดใหญ่ ตรงกลางประเทศเป็นทะเลสาบและลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้บริเวณตอนกลางของประเทศมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ กัมพูชามีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน คือ
ทิศตะว้นออกเป็นเทือกเขาอันนัม เป็นพรมแดนระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา
ด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ มีเทือกเขาพนมดงรัก เป็นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
ด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ราบลุ่มน้ำโขง

แม่น้ำ/ทะเลสาบที่สำคัญ :
แม่น้ำโขง
ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคกลางของกัมพูชา และไหลผ่านเข้าเขตประเทศเวียนนาม เฉพาะส่วนที่ไหลผ่านกัมพูชามีความยาวประมาณ 500 กิโลเมตร
แม่น้ำบาสัก (Bassac)
แม่น้ำโขงตอนล่างตั้งแต่กรุงพนมเปญลงไปแยกออกเป็นสองสาย ด้านตะวันออกเฉียงเหนือยังเรียกว่า “แม่โขง” ส่วนสายที่อยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้เรียกว่า “แม่น้ำบาสัก” ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระมหาราชวังกรุงพนมเปญ มีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร
แม่น้ำทะเลสาบ
เป็นแม่น้ำที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาบ โตนเลสาบ (Tonle sap) มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร น้ำในแม่น้ำโขงจะไหลผ่านแม่น้ำสายนี้ลงสู่ โตนเลสาบ
ทะเลสาบ "โตนเลสาบ (Tonle Sap)"
เป็นทะเลน้ำจืดธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 100 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กำปงธม กำปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ เป็นแหล่งทรัพยากรอาหารอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นชลประทานที่สำคัญในการประกอบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประมงของกัมพูชา ในฤดูน้ำหลากทะเลสาบแห่งนี้จะมีพื้นที่น้ำท่วมถึง 7,500 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบ 7 เท่าของกรุงเทพฯ ลึกถึง 10 เมตร ในโตนเลสาบมีปลาชุกชุมกว่า 300 ชนิด

ทะเลสาบ โตนเลสาบ
ภูมิอากาศ : อากาศร้อนชื้น และมีฤดูฝนยาวนาน อุณหภูมิเฉลี่ย 20-36 องศาเซลเซียส

ทรัพยากรธรรมชาติ : ได้แก่ อัญมนีและแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ฟอสเฟต บ๊อกไซต์ ซิลิคอน ถ่านหิน แมงกานีส และไม้สัก กัมพูชาเป็นประเทศที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มาก แต่หลังจากที่มีการเปิดสัมปทานป่าไม้แล้ว ทำให้ในปัจจุบันป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในบริเวณรอบทะเลสาปเขมร เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เวลา :  UTC +7 หรือเท่ากับเวลาของประเทศไทย

การเมืองการปกครอง

การปกครอง : ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ว่า พระมหากษัตริย์กัมพูชาต้องเป็นสมาชิกของราชวงศ์อายุไม่น้อยกว่า 30 ปีและต้องสืบสายเลือดมาจากนักองค์ด้วง กษัตริย์นโรดมหรือกษัตริย์ศรีสวัสดิ์เท่านั้น

การแบ่งเขตการปกครอง : แบ่งเป็น ราชธานี และจังหวัด ดังนี้
ราชธานี 1 แห่ง คือ พนมเปญ

จังหวัด 24 จังหวัด ได้แก่
1) กระแจะ 2) แกบ 3) เกาะกง 4) กันดาล 5) กัมปงจาม 6) กัมปงชนัง 7) กัมปงธม 8) กัมปงสะปือ 9) กัมปอต 10) ตาแก้ว 11) รัตนคีรี 12) พระวิหาร 13) พระตะบอง 14) โพธิสัตว์ 15) บันเตียเมียนเจย 16) ไปรเวง 17) มณฑลคีรี 18) สตึงเตรง 19) สวายเรียง 20) เสียมราฐ 21) อุดรมีชัย 22) ไพลิน 23) พระสีหนุ และ 24) ตบูงขมุม (แยกออกมาจากจังหวัดกัมปงจาม เมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556)

แต่ละจังหวัดจะมีศูนย์กลางการปกครองเรียกว่า “กรุง”
นอกจากนี้ยังมีเมืองสำคัญที่มีฐานะเป็น “กรุง” อีก 3 แห่ง คือ กรุงปอยเปต (จังหวัดบันเตียเมียเจย) กรุงบาเว็ต (จ.สวายเรียง) และ กรุงสวง (จ.กำปงจาม)
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ
นโรดม สีหมุนี
ประมุข : พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี (Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni)

การสืบราชสันตติวงศ์ของกัมพูชา ไม่เหมือนกับระบบกษัตริย์ส่วนใหญ่ในประเทศอื่น ๆ คือ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถเลือกผู้ที่จะมาสืบราชสันตติวงศ์ได้ด้วยตัวเอง  ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่คือ สภาราชบังลังก์ (Royal Council of the Throne) ประกอบด้วยสมาชิก ดังนี้
1) ประธานสภารัฐสภา แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
2) นายกรัฐมนตรี
3) พระสังฆราชศาสนาพุทธฝ่ายมหานิกาย
4) พระสังฆราช ศาสนาพุทธ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
5) รองประธานรัฐสภาคนที่หนึ่ง และ
6) รองประธานสภาคนที่สอง
โดยจะมีจัดการประชุมขึ้นในสัปดาห์ที่พระมหากษัตริย์สวรรคตหรือไม่สามารถปฎิบัติพระราชกรณียกิจได้ต่อไป และจะทำการเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่จากรายชื่อผู้สิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์และเป็นสมาชิกราชวงศ์
สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน

ผู้นำรัฐบาล : สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Predei Techo Hun Sen








ศาสนาและวัฒนธรรม :

ศาสนาประจำชาติของประเทศกัมพูชา ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ถึงร้อยละ 96
ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนท์ ส่วนผู้นับถือศาสนาอิสลามนั้นเป็นกลุ่มผู้ที่มีเชื้อสายจามและเชื้อสายมลายู

ประชาชนกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีวัดอยู่ทั่วประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทย
และมีประวัติศาสตร์และอารยะธรรมอันยาวนาน นครวัดและนครธมนับเป็นสิ่งก่อสร้างที่อัศจรรย์ชิ้นหนึ่งของโลก ศิลปวัฒนธรรมที่งดงามของกัมพูชามีความคล้ายคลึงกันมากกับศิลปวัฒนธรรมไทย ภาษาเขมรมาจากรากศัพท์สันสกฤต จึงมีคำหลายคำในภาษาเขมรที่คล้ายคลึงกับภาษาไทย

นครวัด (ภาพจาก : commons.wikimedia.org)

สภาพเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโดยรวม : กัมพูชามีภาวะสงครามภายในประเทศต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศทดถอย จนถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุดประเทศหนึ่ง จนกระทั่งสงครามภายในสิ้นสุดลงในปี 2534 และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสังคมนิยมเป็นระบบประชาธิปไตย ได้มีการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้น รัฐบาลมุ่งหวังการพัฒนาด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากยิ่งขึ้น รายได้ประชาชาติต่อหัว 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าออก : เสื้อผ้า สิ่งทอ ไม้ ยางพารา ข้าว ปลา ยาสูบ และรองเท้า

สินค้าเข้า :  ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม บุหรี่ ทองคำ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร ยานพาหนะ และยา

สกุลเงิน : เรียล (Riel : KHR) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 114 เรียล (สิงหาคม 2558)

ความสัมพันธ์กับไทย

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2493
กัมพูชาและไทยมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน มีความสัมพันธ์ในระดับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนบริเวณแนวชายแดนที่ใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และเครื่องอุปโภคบริโภคในปริมาณมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามีความผกผันบ่อยครั้ง โดยมีสาเหตุจากสถานการณ์การเมืองภายใน การปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชน และปัญหาพื้นที่ชายแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธพื้นที่ทับซ้อนกัน ได้มีความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดน โดยมีคณะกรรมการเขตแดนร่วมและคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วม เป็นกลไกสำคัญในการดูแลและแก้ไขปัญหาชายแดนทางบก

เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด
สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :

กรมเอเชียตะวันออก. กระทรวงการต่างประเทศ. 2558. "จับตาเอเซียตะวันออก, ข้อมูลประเทศและเศรษฐกิจในภูมิภาค, ราชอาณาจักรกัมพูชา" [ระบบออนไลน์] . แหล่งที่มา http://www.eastasiawatch.in.th/information.php?id=1 (16 สิงหาคม 2558).

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. “ประเทศกัมพูชา” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดของประเทศกัมพูชา  (10 กรกฎาคม 2558).

พินสุดา วงศ์อนันต์. ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ราชอาณาจักรกัมพูชา.-- กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2556.

Read more →

2558/10/19

ประเทศสมาชิกอาเซียน : บรูไน

รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam)

ข้อมูลพื้นฐาน

ชื่อทางการ : รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam)
ออกเสียงตามภาษามาลายูว่า เนการาบรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam)
มีความหมายว่า ดินแดนแห่งความสงบสุข
อักษรย่อชื่อประเทศ  : BN, BRN
อักษรย่อในระบบโดเมนอินเทอร์เน็ต : .bn

คำขวัญของประเทศ : น้อมรับใช้ตามแนวทางของพระอัลเลาะห์เสมอ  (Always in service with God's guidance)

วันชาติ : วันที่ 23 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่บรูไนพ้นจากการเป็นประเทศในอารักขาของสหราชอาณาจักร และได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527

มัสยิด Sultan Omar Ali Saifuddin Mosque เป็น Landmarks ที่ชื่อเสียงแห่งหนึ่งของบรูไน
ภาพจาก : Wikimedia Commons


เมืองหลวง : บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan) เป็นทั้งเมืองหลวง และเมืองท่าสำคัญของประเทศ

จำนวนประชากร : ประมาณ 429,646 คน  (กรกฏาคม 2558 ข้อมูลจาก The World Factbook)

ภาษา : ภาษาราชการคือ ภาษามาเลย์ (Malay หรือ Bahasa Melayu) รองลงมาเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ใช้กันทั่วไปทั้งในราชการ การค้า

สัญลักษณ์ของประเทศ

ธงชาติ : ธงชาติของรัฐบรูไนดารุสซาลามแบบที่ใช้ในปัจจุบัน ประกาศใช้อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2502 มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเหลือง มีอัตราส่วน 2:3  ภายในมีแถบสีขาวและสีดำวางพาดตามแนวทแยงจากมุมซ้ายบนไปยังมุมล่างด้านปลายธง โดยสีขาวอยู่บน สีดำอยู่ล่าง ตรงกลางธงนั้นมีภาพตราแผ่นดินของบรูไนดารุสซาลาม
- พื้นธงสีเหลือง หมายถึงกษัตริย์ (ธงประจำพระองค์ของสุลต่านแห่งบรูไน ใช้ธงพื้นสีเหลือง)
- สีขาวและสีดำ หมายถึงมุขมนตรีของประเทศบรูไน


ตราแผ่นดิน : ตราแผ่นดินของบรูไน เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2475 ประกอบด้วยสัญลักษณ์ 5 อย่าง คือ
  • ราชธวัช (ธง) และพระกลด (ร่ม) หมายถึง สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม
  • ปีกนก 4 ขน หมายถึง การพิทักษ์ความยุติธรรม ความสงบ ความเจริญ และสันติสุขของชาติ
  • มือสองข้างที่ชูขึ้น หมายถึง หน้าที่ของรัฐบาลที่จะยกระดับความมั่งคั่ง สันติสุข และความวัฒนาถาวรให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
  • ซีกวงเดือนหงาย หมายถึง ศาสนาอิสลาม อันป็นศาสนาประจำชาติ 
  • ภายในวงเดือนซึ่งหงายขึ้น มีข้อความภาษาอาหรับ แปลได้ว่า "น้อมรับใช้ตามแนวทางของพระอัลเลาะห์เสมอ" ("Always in service with God's guidance") เบื้องล่างสุดมีแพรแถบจารึกชื่อประเทศไว้ว่า บรูไนดารุสซาลาม
ดอกไม้ประจำชาติ : Simpor ดอกไม้ประจำชาติ รัฐบรูไนดารุสซาลาม คือดอก Simpor ภาษาอังกฤษเรียกว่า Dillenia suffruticosa คนไทยเรียกว่า ดอกส้านชะวา มีกลีบดอกสีเหลืองสดใสขนาดใหญ่ เมื่อบานอย่างเต็มที่กลีบดอกจะแผ่กระจายออกเหมือนร่ม

ดอก Simpor

คำกล่าวทักทาย : ซาลามัต ดาตัง (Salamat Datang)

สภาพทางภูมิศาสตร์

ที่ตั้งและอาณาเขต  :ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว ชายฝั่งทางด้านเหนือจรดทะเลจีนใต้ พรมแดนทางบกถูกล้อมรอบด้วย รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย

พื้นที่ มีขนาดพื้นที่ 5,765 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 171 ของโลก

ภูมิประเทศ : พื้นที่ร้อยละ 70 เป็นป่าไม้เขตร้อน ภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลและที่ราบหุบเขา พื้นที่ชายฝั่งสูงเป็นภูเขาทางทิศตะวันออก และเนินเขาต่ำทางทิศตะวันตก

ภูมิอากาศ : อากาศร้อนชื้น ฝนตกเกือบตลอดปี อุณหภูมิประมาณ 24 -32 องศาเซลเซียส

ทรัพยากรธรรมชาติ : น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และป่าไม้

เวลา : UTC+8 หรือเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง

การเมืองการปกครอง

การปกครอง : ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  รัฐธรรมนูญปัจจุบันซึ่งแก้ไขล่าสุดเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 กำหนดให้สุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ คือเป็นทั้งประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงกคลัง นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นชาวบรูไนเชื้อสายมาเลย์โดยกำเนิด และจะต้องเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่

การแบ่งเขตการปกครอง : ประเทศบรูไนแบ่งการปกครองระดับบนสุดออกเป็น 4 เขต (daerah) คือ
เขตบรูไน-มัวรา
เขตเบอไลต์
เขตตูตง
เขตเติมบูรง


ประมุข : สุลต่าน องค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 29
สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาเลาะห์ (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah)

ผู้นำรัฐบาล : นายกรัฐมนตรี สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาเลาะห์ ดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง




ศาสนาและวัฒนธรรม

ส่วนใหญ่นับศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ 67%   ศาสนาพุทธนิกายมหายาน 13%  ศาสนาคริสต์ 10% ศาสนาฮินดู ความเชื่อพื้นเมือง และอื่นๆ 10%

บรูไน นับถือศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด จึงห้ามการดื่มสุราในที่สาธารณะ และไม่มีการจำหน่ายสุรา
สตรีชาวบรูไนจะแต่งกายมิดชิด นุ่งกระโปรงยาว เสื้อแขนยาว และมีผ้าโพกศีรษะ คนต่างชาติ จึงไม่ควรนุ่งกระโปรงสั้น และใส่เสื้อไม่มีแขน

สภาพเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโดยรวม : บรูไน มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ภายใต้การดูแลของรัฐบาล มีรายได้ประชากรต่อหัวประมาณ 40,858 เหรียญสหรัฐ (ข้อมูลปี พ.ศ. 2556)  เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับสามในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย และผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับสี่ของโลก

รายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมูลค่ากว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยส่งออกไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า หากไม่พบแหล่งน้ำมันใหม่ในอนาคต ปริมาณน้ำมันสำรองของบรูไนจะหมดลงภายใน 25 ปี รัฐบาลจึงกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเริ่มกระจายการผลิต และส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ เช่น พัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและเครื่องดิ่ม อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างฝีมือภายในประเทศ ต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศเป็นหลัก คาดว่ามีแรงงานไทยอยู่ในบรูไนประมาณ 18,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานในการก่อสร้าง

สินค้าออก : น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น อาเซียน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย

สินค้าเข้า : เครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร เช่น ข้าวและผลไม้ ส่วนใหญ่นำเข้าจาก อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

สกุลเงิน : ดอลลาร์บรูไน (Brunei Dollar : BND) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์บรูไน ประมาณ 25.5 บาท (สิงหาคม 2558)

ธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์บรูไน

ความสัมพันธ์กับไทย

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรูไนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบรูไนดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด ทั้งสองฝ่ายมีความใกล้ชิดโดยเฉพาะระดับพระราชวงศ์ และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงอยู่เสมอ ทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ไม่มีความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ เป็นพันธมิตรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบพหุภาคีอื่น ๆ

เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด
สถาบัน กศน.ภาคเหนือ


อ้างอิง :

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. กระทรวงพาณิชย์. 2553. "ข้อมูลพื้นฐาน บรูไนดารุสซาลาม" เอกสารสารประกอบคำบรรยาย งานสัมมนา International Trade Day:AEC. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www2.moc.go.th/more_news.php?cid=206  (20 มิถุนายน 2558).

กรมเอเชียตะวันออก. กระทรวงการต่างประเทศ. 2558. "จับตาเอเซียตะวันออก, ข้อมูลประเทศและเศรษฐกิจในภูมิภาค, บรูไน" [ระบบออนไลน์] . แหล่งที่มา http://www.eastasiawatch.in.th/information.php?id=8 (30 สิงหาคม 2558).

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. “ประเทศบรูไน” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศบรูไน (10 กรกฎาคม 2557).

Read more →

2558/09/09

ดอกไม้ประจำชาติประเทศสมาชิกอาเซียน

เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด, สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ดอกไม้ประจำชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนแสดงถึงประเทศ ดอกไม้ประจำชาติบางชาติมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมหรือศาสนาย้อนกลับไปหลายร้อยหรือหลายพัน ๆ ปี มีทั้งที่มีการรับรองอย่างเป็นทางการหรืออาจจะไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการก็ตาม

ดอกไม้ประจำชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่
แสตมป์ชุดดอกไม้ประจำชาติอาเซียน ซึ่งออกโดยไปรษณีย์ไทย เนื่องในโอกาสปีใหม่ 2556

1. รัฐบรูไนดารุสซาลาม

ดอกไม้ประจำชาติ รัฐบรูไนดารุสซาลาม คือดอก Simpor ภาษาอังกฤษเรียกว่า Dillenia suffruticosa คนไทยเรียกว่า ดอกส้านชะวา มีกลีบดอกสีเหลืองสดใสขนาดใหญ่ เมื่อบานอย่างเต็มที่กลีบดอกจะแผ่กระจายออกเหมือนร่ม

ดอก Simpor หรือ ส้านชวา

ต้น Simpor พบได้ทั่วไปตามแม่น้ำในประเทศบรูไน ภาพของดอก Simpor ปรากฎอยู่ในธนบัตรหนึ่งดอลลาร์บรูไน และนิยมใช้เป็นแบบลวดลายในการออกแบบงานศิลปะต่าง ๆ

ธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์บรูไน 

2. ราชอาณาจักรกัมพูชา 

ดอกลำดวน

ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา คือ ดอกลำดวน หรือ หอมนวล เป็นดอกไม้ขนาดเล็ก มีสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็นเป็นดอกเดี่ยวออกตามส่วนยอดและตามง่ามใบ มีกลีบดอก 6 กลีบ ซ้อนกันเป็นชั้น ปลายกลีบแหลม โคนกลีบดอกกว้าง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง กลิ่นหอมเย็น ออกดอกช่วง เดือนธันวาคม-มีนาคม

ลำดวนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 5–10 เมตร ผิวเปลือกลำต้นเป็นสีเทา ผิวต้นเรียบ มีรอยแตกเล็กน้อยแตก ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันตามข้อ ลำต้น ใบเป็นรูปหอก ยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบมนแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม สามารถพบได้เกือบทุกที่ในประเทศกัมพูชา นิยมปลูกเป็นไม้ตกแต่งในสวนสาธารณะ

3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ดอกไม้ประจำชาติของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย คือ Moon Orchid หรือ กล้วยไม้ราตรี เป็นกล้วยไม้ในสกุลฟาเลนนอปซิส (Phalaenopsis Amabilis) ในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า Angrek bulan เป็นดอกกล้วยไม้ที่บานนานที่สุด ช่อดอกอยู่ได้นานถึง 2-6 เดือน เจริญเติบโตได้ดีในที่มีอากาศชื้น พบได้ทั่วไปในที่ราบต่ำของอินโดนีเซีย

ดอกกล้วยไม้ราตรี (Moon Orchid)

กล้วยไม้ราตรีจัดเป็น 1 ใน 3 ของดอกไม้ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย อันประกอบด้วย
  • ดอกเมลาตี หรือดอกมะลิลา (Jasminum sambac)
  • ดอกกล้วยไม้ราตรี หรือ Moon Orchid 
  • ดอกบัวผุด หรือ Rafflesia arnoldii  
ดอกไม้ 3 ชนิดที่เป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย : กล้วยไม้ราตรี มะลิลา และบัวผุด

4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ดอกไม้ประจำชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ ดอกจำปา (Champa)  ซึ่งคนไทยเรียกวา จำปาลาว ลั่นทม ลีลาวดี

ดอกลั่นทม หรือจำปาลาว

จำปาลาว หรือ ลั่นทม เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม มีหลากหลายสี เช่น แดง เหลือง ชมพู และสีหวานๆ หลายสี สำหรับคนลาว ดอกจำปาลาว หมายถึงความจริงใจ และความสุขในชีวิต จึงมักใช้ตกแต่งในงานพิธี หรือทำพวงมาลัยสำหรับต้อนรับแขก ดอกจำปาลาวจะบานตลอดปี เป็นต้นไม้ที่ปลูกทั่วประเทศ

5. มาเลเซีย

ดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซีย คือ  Bunga raya (บูหงา-รายอ) หรือ ดอกพู่ระหง หรือชบาสีแดง

ดอกชบา

ดอกพู่ระหง หรือ ชบาสีแดง ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซียมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 โดยลักษณะห้ากลีบของดอกชบา ถือเป็นสัญลักษณ์แทน "ห้าหลักการของความเป็นชาติ" ซึ่งถือเป็นปรัชญาในการเสริมสร้างเอกภาพแห่งชาติของมาเลเซีย ในขณะที่สีแดง แสดงถึงความกล้าหาญ

6. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ดอกไม้ประจำชาติของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ คือ Paduak หรือ ดอกประดู่

ดอกประดู่

ประดู่ เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีดอกเป็นช่อออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองทอง บานในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ของพม่า เมื่อบานสะพรั่งเต็มที่ จะเปลี่ยนเป็นสีทองทั้งต้น

ชาวพม่าเปรียบดอกประดูเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรงอดทน และความรัก เป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญในพิธีทางศาสนา สามารถพบได้ทั่วประเทศ ลำต้นยังมีประโยชน์ในการใช้ทำเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย

7. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 

ดอกไม้ประจำชาติสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ คือ Sampaguita หรือ Jasminum sambac หรือ Arabian jasmine ในภาษาอังกฤษ เป็นดอกมะลิชนิดหนึ่ง มีกลีบรูปดาวสีขาว บานตลอดทั้งปี แย้มดอกตอนกลางคืน และมีกลิ่นหอม ชาวฟิลิปปินส์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมต้น และความเข้มแข็ง
ดอกมะลิ

8. สาธารณรัฐสิงคโปร์ 

ดอกไม้ประจำชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์ คือดอกกล้วยไม้สกุลแวนด้า สายพันธุ์ แวนด้า มิสโจเคียม (Vanda Miss Joaquim) เป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด พบได้ทั่วไปในประเทศสิงคโปร์ โดยตั้งชื่อตามผู้ผสมพันธุ์ มีสีม่วง รูปลักษณ์ที่สวยงาม อีกทั้งบานตลอดปี ถูกยกสถานะให้เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 1981

กล้วยไม้ แวนด้ามิสโจเคียม


9.  ราชอาณาจักรไทย

ดอกไม้ประจำชาติของไทย คือ ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกว่า คูน ทางภาคเหนือเรียกว่า ลมแล้ง ทางภาคใต้เรียกว่า ราชพฤกษ์ ลักเกลือ หรือ ลักเคย ชาวกะเหรี่ยงและในกาญจนบุรีเรียกว่า กุเพยะ

ดอกราชพฤกษ์ หรือ ดอกคูน

ราชพฤกษ์มีช่อดอกสีเหลืองที่สวยงาม ชาวไทยถือว่าสีเหลืองของดอกไม้ชนิดนี้ คือ สีของพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์ และเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีของคนไทย 

ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้มงคล นิยมใช้ประกอบพีธีที่สำคัญ เช่น พีธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล และ ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ฯลฯ ดอกราชพฤกษ์จะเริ่มบานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ขณะผลิบานต้นจะทิ้งใบ เหลือเพียงดอกสีเหลืองอร่าม

10. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ดอกไม้ประจำชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คือ ดอกบัวหลวงสีแดง ดอกบัวเป็นที่รู้จักในนาม “ดอกไม้แห่งรุ่งอรุณ” พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำของประเทศเวียดนาม

ดอกบัวหลวง

สำหรับชาวเวียดนามแล้ว ดอกบัวคือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดี ความสง่างามของดอกบัวมักถูกกล่าวถึงในบทกลอน และเพลงพื้นเมืองของประเทศเวียดนามเสมอ


อ้างอิง :
กรมอาเซียน, กระทรวงต่างประเทศ. บันทึกการเดินทางอาเซียน. พิมพ์ครั้งที่ 1.  หน้า 77-81. กรุงเทพฯ : วิธิตา แอนิเมชั่น, 2552.

Wikipedia free encyclopedia. Wikimedia Foundation. “Floral emblem” [Online].
Available http://en.wikipedia.org/wiki/Floral_emblem  (8 July 2015).

Read more →

2558/09/02

มรดกโลกในสิงคโปร์ 1 : สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์

ประเภท : มรดกโลกทางวัฒนธรรม
ปีที่ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2558
ชื่อเป็นทางการ : สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ (Singapore Botanic Gardens)
ที่ตั้ง :  สิงคโปร์
เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด, สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ (Singapore Botanic Gardens) 

ความเป็นมาและความสำคัญ

สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ เป็นมรดกโลกแห่งแรกของสิงคโปร์ และเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกในทวีปเอเชียและเป็นแห่งที่ 3 ของโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ต่อจากสวนพฤกษศาสตร์แพดัว (Orto Botanico di Padova) ในประเทศอิตาลี และ Royal Botanic Gardens ในเขตคีว (Kew) ของประเทศอังกฤษ โดยสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ เป็นสวนสไตล์อังกฤษเพียงแห่งเดียวในโซนภูมิประเทศเขตร้อนและตั้งอยู่กลางใจเมืองของประเทศสิงคโปร์

สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์  มีพื้นที่มากกว่า 260 ไร่ สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2402  มีอายุถึง 156 ปี จึงแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนของอาณานิคมอังกฤษ ที่ได้กลายเป็นสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อันทันสมัยระดับโลกซึ่งใช้สำหรับทั้งการอนุรักษ์และการศึกษา มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านพฤกษศาสตร์เขตร้อน

ในช่วงปีแรกที่สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการเกษตรในประเทศสิงคโปร์และภูมิภาค การทดลองและการกระจายพืชที่มีประโยชน์ และหนึ่งในความสำเร็จที่เก่าแก่ที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดคือ การแนะนำการทดลองและการส่งเสริมการขายยางพารา จนกลายเป็นพืชหลักที่นำความเจริญรุ่งเรืองที่ดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418

นอกจากนี้ สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ยังประกอบไปด้วยสวนกล้วยไม้แห่งชาติสิงคโปร์ ที่มีกล้วยไม้มากกว่า 2,000 ชนิดจัดแสดงอยู่ และมีการจำลองป่าฝนเมืองร้อนอีกด้วย

บางส่วนของสวนกล้วยไม้แห่งชาติ (National Orchid Garden) ในสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์
ภาพจาก : เว็บไซต์สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์  http://www.sbg.org.sg

ป่าฝนเขตร้อน ในสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์
ภาพจาก : เว็บไซต์สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์  http://www.sbg.org.sg

ที่ตั้ง

ใจกลางเมืองสิงคโปร์
ที่อยู่ Singapore Botanic Gardens, 1 Cluny Road, Singapore 259569

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2558 ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา จำนวน 2 ข้อ ดังนี้
(ii) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
(iv) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ


อ้างอิง :
สำนักข่าวไทย. "Wow Asean : สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ได้เป็นมรดกโลก" [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา http://www.tnamcot.com/content/227659  (10 สิงหาคม 2558)

UNESCO World Heritage Centre. "Singapore Botanic Gardens" [online].  Available http://whc.unesco.org/en/list/1483/ (31 August 2015).

Singapore Botanic Gardens. "The History of Singapore Botanic Gardens" [online].  Available https://www.sbg.org.sg/index.php?option=com_k2&view=item&layout=item&id=15&Itemid=9 (31 August 2015).

Read more →

2558/09/01

ขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

เรียบเรียง : นัชรี  อุ่มบางตลาด, งานเทคโนโลยีสารนเทศเพื่อการศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ


มรดกโลก (World Heritage Site) 


มรดกโลก คือ สถานที่ อันได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้าง รวมไปถึงเมือง ที่มีความสำคัญและบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่มนุษยชาติหรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา และควรปกป้องรักษาสิ่งเหล่านั้นให้ได้ตกทอดไปถึงอนาคต

โดยองค์การยูเนสโกได้เริ่มทำการคัดเลือกสถานที่ที่เป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 มรดกโลกแต่ละแห่งเป็นทรัพย์สินของประเทศที่เป็นเจ้าของดินแดนที่มรดกโลกนั้นตั้งอยู่ แต่ได้ถูกพิจารณาให้เป็นผลประโยชน์ของประชาคมระหว่างประเทศในการอนุรักษ์มรดกโลกแห่งนั้น

ในปัจจุบัน (กรกฎาคม 2558) มีมรดกโลกทั้งหมด 1,031 แห่ง ใน 163 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 802 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 197 แห่ง และอีก 32 แห่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท


ขั้นตอนการเสนอชื่อสถานที่เป็นมรดกโลก

  1. ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรมทั้งหมดภายในประเทศของตน เรียกว่า บัญชีรายชื่อเบื้องต้น(Tentative List) ขึ้นมาก่อน และสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้แล้วเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ
  2. ประเทศที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะต้องคัดเลือกสถานที่มาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้น และจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูล (Nomination File) เพื่อยื่นต่อองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณา ได้แก่ สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites) และ สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ (World Conservation Union) ทั้งสององค์กรจะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก 
  3. คณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่ควรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือทางคณะกรรมการอาจร้องขอให้ประเทศที่เสนอชื่อได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เพิ่มเติม โดยการพิจารณาว่าสถานที่ที่ขอขึ้นทะเบียนนั้น มีลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ

ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สถานที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์อย่างน้อย 1 ข้อ โดยองค์กรยูเนสโก มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา (พ.ศ. 2548) ทั้งหมด 10 ข้อ  โดยแบ่งเป็นเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม 6 ข้อ (หลักเกณฑ์ข้อที่ 1-6) และหลักเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติ 4 (หลักเกณฑ์ข้อที่ 6-10) ดังนี้

หลักเกณฑ์สำหรับมรดกโลกทางวัฒนธรรม  มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทั้งหมด 6 ข้อ
(i) เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
(ii) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
(iv) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
(v) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา

หลักเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติ มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทั้งหมด 4 ข้อ
(vi) มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
หลักเกณฑ์สำหรับมรดกโลกทางธรรมชาติ  มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทั้งหมด 4 ข้อ
(vii) เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่างๆในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก
(viii) เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
(ix) เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
(x) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย



อ้างอิง : 
ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม “หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลก” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/convention.aspx#a4 (13 ธันวาคม 2556)

วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิพิเดีย. “มรดกโลก” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/มรดกโลก (19 สิงหาคม 2558)

UNESCO World Heritage Centre.  “The Criteria for Selection” [Online].
Available http://whc.unesco.org/en/criteria/ (13 December 2013).

Read more →