2557/07/22

มรดกโลกในไทย 4 : ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

ประเภท : มรดกโลกทางธรรมชาติ
ปีที่ขึ้นทะเบียน : พ.ศ. 2548
ชื่อเป็นทางการ : ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)
ที่ตั้ง : จังหวัด สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีณบุรี สระแแก้ว และ บุรีรัมย์ ประเทศไทย 
เรียบเรียง : นัชรี  อุ่มบางตลาด / กรรณิการ์  ยศตือ

ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)

ความเป็นมา

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย โดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ประกาศจัดตั้งผืนป่าเขาใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง ในบริเวณดงพญาเย็นของเทือกเขาพนมดงรัก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในปีพุทธศักราช 2505 และรัฐบาลชุดต่อๆ มา ก็ได้ประกาศให้ป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยาเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ในปีพุทธศักราช 2524 พุทธศักราช 2525 และพุทธศักราช 2539 ตามลำดับ รวมทั้งประกาศให้ป่าดงใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ในปีพุทธศักราช 2539

ภาพจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

จากการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทั้ง 1 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง บริเวณดงพญา-เย็นของเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้พื้นที่ป่าบริเวณนี้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศตามธรรมชาติขนาดใหญ่ จนได้รับการขนานนามว่า “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)” ซึ่งเชื่อว่าสามารถเอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์นานับประการต่อประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก หากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและถูกหลักการ

ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ

ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์เชิงระบบนิเวศ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 3,845,000 ไร่ หรือ 6,152 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ โดยเฉพาะด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ (Protected Landscape) ของราชอาณาจักรกัมพูชา ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง หรือพื้นที่อนุรักษ์สภาพธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ดังนี้

ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก กระทรวงวัฒนธรรม : http://www.thaiwhic.go.th/heritage_nature2.aspx

1. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก อยู่ในพื้นที่ จ.นครนายก จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ซึ่งสูงโดดเด่นขึ้นมาจากที่ราบภาคกลางแล้วก่อตัวเป็นแนวเขตของที่ราบสูงโคราช  มียอดเขาจำนวนหลายแห่ง มีเขาร่มเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร ประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และตะวันตกเป็นที่สูงชันไปเรื่อยๆ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย ได้แก่
- พื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยาน มีแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ไหลมาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงแล้วไหลลงสู่อ่าวไทย นับว่ามีความสำคัญต่อการเกษตรกรรมและระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้
- พื้นที่ทางทิศเหนือมีแม่น้ำ แม่น้ำลำตะคองและแม่น้ำพระเพลิง ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง
- ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีห้วยมวกเหล็ก ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็กให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ 

น้ำตกเหวสุวัต ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ภาพจาก : http://worldheritage.routes.travel/world-heritage-site/khao-yai-forest-complex/

สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบ่งออกๆได้เป็น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อยๆ ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังพบ เสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า นกชนิดต่างๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 340 ชนิด ที่สำรวจพบอาศัยอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและที่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ นกเงือกทั้ง 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาล พวกแมลงที่มีมากกว่า 5,000 ชนิด ที่สวยงามและพบเห็นบ่อยได้แก่ ผีเสื้อ มีรายงานพบกว่า 216 ชนิด

2. อุทยานแห่งชาติทับลาน  
อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ คือ มีเนื้อที่ประมาณ 1,397,375ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

ภาพจาก : http://travel.giggog.com/133034

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้างขวาง ยอดเขาที่สูงสุด มีระดับความสูงประมาณ 992 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นเทือกเขายาวต่อเนื่องกันทำให้มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำห้วย ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำมูล และแม่น้ำบางปะกง จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มาก สามารถจำแนกได้ 4 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุม เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่างๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก 

เขาละมั่ง ในอุทยานแห่งชาติทับลาน
ภาพโดย : wuttiwong  จาก : http://www.panoramio.com/photo/92912914

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานยังมีป่าอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นป่าผลัดใบที่มีเฉพาะในบางพื้นที่ เรียกว่า “ป่าลาน” มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้านตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ไม้ลานเป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Palmae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Becc. 

ต้นลานในอุทยานแห่งชาติทับลาน 
ภาพจาก : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/travel/20090918/76495/
หอมกลิ่นดอกลานที่ทับลาน.html

3. อุทยานแห่งชาติปางสีดา  
อุทยานแห่งชาติปางสีดา พื้นที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือ 844 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดยาวมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลานไปยังอุทยานแห่งชาติตาพระยา จรดประเทศกัมพูชา โดยมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 - 878 เมตร มียอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า มีสภาพธรรมชาติและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารหลายสาย และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง

ภาพจาก :  http://th.wikipedia.org/wiki/อุทยานแห่งชาติปางสีดา

น้ำตกปางสีดา 
ภาพจาก http://www.toptenthailand.com/topten/detail/20131214110858875

4. อุทยานแห่งชาติตาพระยา  
อุทยานแห่งชาติตาพระยาเป็นเทือกเขาสูงจากเทือกเขาบรรทัดตลอดแนวจนไปถึงเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 100-200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 371,250 ไร่ หรือ 594 ตารางกิโลเมตร โดยครอบคลุมเนื้อที่ 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 380 กิโลเมตร เป็นแนวเขตติดต่อระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา ยอดเขาที่สูงที่สุดมีความสูง 579 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความลาดชันเฉลี่ยทั้งพื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ในภูมิภาคแถบนี้ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์กระจายอยู่ในพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง 
ภาพจาก : http://www.traveleastthailand.org/travel-detail.php?id=359&title=อุทยานแห่งชาติตาพระยา

ภาพจาก : http://www.h2th.com/articles/381634/อุทยานแห่งชาติตาพระยา.html

5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่   
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ ท้องที่ตำบลนางรอง ตำบลโนนดินแดง กิ่งอำเภอโนนดินแดง ตำบลโคกมะม่วง ตำบลหูทำนบ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ มีเนื้อที่ 212,500 ไร่ หรือประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะ เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาขึ้นโดดเดี่ยวไม่ติดต่อกันเป็นเทีอกเขา ยอดเขาสูงประมาณ 685 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้งผลมป่าเต็งรัง มีทุ่งหญ้าบางส่วน บริเวณกลางพื้นที่เป็นแหล่งน้ำซับ ป่าดงใหญ่เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด แห่งสุดท้ายของจังหวัดบุรีรัมย์ และยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ คือลำนางรองและลำปลายมาศ พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้งมีป่าเต็งรังและ ทุ่งหญ้าเล็กน้อย มีไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจอยู่จำนวนมาก เช่น มะค่าโมง ประดู่ ตะเคียนหิน พยุง ฯลฯ 

ภาพจาก : http://pantip.com/topic/32230724

ภาพจาก : http://www.ictbr4.org/dl_ict/resource-wis/dongyai.html

 ความสำคัญ

แหล่งมรดกโลกเขาใหญ่ ดงพญาเย็นนั้น เป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งสงวนระบบนิเวศตามธรรมชาติอันหลากหลาย มีสภาพป่าแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง ไปจนถึงป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าเขตร้อนกระจายตัวอยู่ทั่วไป รวมทั้งป่าบนเขาหินปูนและป่าริมห้วยลำธาร

ทุ่งหญ้าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ภาพจาก : http://learnthaiwithmod.com/2013/08/be-wild-khao-yai-national-park

จากระบบนิเวศทางธรรมชาติที่หลากหลาย ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า พันธุ์พืชที่พบในประเทศไทยทั้งหมดราว 15,000 ชนิดนั้น พบในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่จำนวนไม่น้อยกว่า 2,500 ชนิด หรือประมาณ 1 ใน 6 ของชนิดพันธุ์ที่ปรากฏในประเทศ โดยมีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น 16 ชนิด และมีสัตว์ป่ามากถึง 805 ชนิด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 112 ชนิด นก 392 ชนิด โดยเป็นนกเงือก 4 ชนิดใน 6 ชนิดที่พบในประเทศไทย และมีสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมกัน 205 ชนิด โดยมี 9 ชนิด ที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น และในจำนวนสัตว์ป่าที่พบทั้งหมดมีหลายชนิดที่มีความสำคัญในระดับโลก และมี 5 ชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ได้แก่ ช้างป่า เสือโคร่ง และวัวแดง นอกจากนี้ยังพบว่ามีสัตว์ป่าที่มีสถานภาพมีแนวโน้มสูญพันธุ์ไปจากโลก (vulnerable) อาศัยอยู่ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้แก่ ลิงกังหรือลิงก้นแดง ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ หมาไน หมีควาย  เสือลายเมฆ  กระทิง  เลียงผา  นกลุมพูแดง ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง และนกฟินฟุต

นกเงือกในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ภาพจาก : http://thegoldenscopeit.com/2014/07/15/i-siti-unesco-della-thailandia/

ช้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ภาพจาก : ttp://wayneimage.com/2012/12/22/thailand-khao-yai-national-park/

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันภายใต้ชื่อ  “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)”  จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์มรดกโลกด้านธรรมชาติ จำนวน 1 ข้อ คือ
 (x) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย

ยูเนสโกได้เสนอข้อเสนอแนะตามมาอีก 7 ข้อ หลังจากได้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้แก่
ข้อที่ควรจะปรับปรุง
1. ให้มีการจัดระบบการจัดผืนป่าทั้งหมดแบบบูรณาการ ไม่ใช่แยกจัดแบบต่างคนต่างดูแลเหมือนเช่นที่ผ่านมา
2. รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณ และทรัพยากรบุคคล เพื่อการบริหารจัดการพื้นป่าอย่างเต็มที่
3. ดูแลนโยบายและการปฏิบัติให้สอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน
4. ต้องให้การส่งเสริมการสำรวจ และวิจัยสถานภาพของป่า และสัตว์ป่าอย่างจริงจัง
5. จะต้องหาหนทางเชื่อมผืนป่าต่างๆเข้าด้วยกัน โดยการเชื่อมต่อกับป่าอนุรักษ์ในกัมพูชา
6. ต้องหาทางแก้ปัญหาถนนที่ตัดแยกผืนป่าออกจากกัน โดยจะต้องศึกษา และหามาตรการให้ผืนป่าเชื่อมต่อกันภายในปี พุทธศักราช ๒๕๕๐
7. ดำเนินกิจกรรมที่เสริมสร้างความร่วมมือจากชาวบ้าน และชุมชนในการอนุรักษ์ผืนป่า เพื่อเป็นหลักประกันในสถานภาพมรดกโลก


อ้างอิง :
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  ไผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่  มรดกโลกทางธรรมชาติ” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.dnp.go.th/parkreserve/world_np_00.asp?lg=1  (9 กรกฎาคม 2557)

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=9&lg=1(9 กรกฎาคม 2557) 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “อุทยานแห่งชาติทับลาน” [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=97&lg=1 (9 กรกฎาคม 2557) 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “อุทยานแห่งชาติปางสีดา” [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มาhttp://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=101&lg=1 (9 กรกฎาคม 2557) 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “อุทยานแห่งชาติตาพระยา”[ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มาhttp://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=24&lg=1 (9 กรกฎาคม 2557) 

ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม . “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_nature2.aspx (9 กรกฎาคม 2557)

0 comments to “มรดกโลกในไทย 4 : ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่”

แสดงความคิดเห็น