ปีที่ขึ้นทะเบียน : พ.ศ. 2543
ชื่อเป็นทางการ : อุทยานคินาบาลู (Kinabalu Park)
ที่ตั้ง : รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย
เรียบเรียง : แก้วตา ธีระกุลพิศุทธิ์
อุทยานคินาบาลู (Kinabalu Park)
ความเป็นมา
คินาบาลูเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ของชนเผ่าพื้นเมืองดูซัน (Ducan) และเผ่ากาซาดาน (KaZadan) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นบังคับเชลยศึกที่เป็นทหารชาวอังกฤษและออสเตรเลีย เดินผ่านป่าดงดิบแห่งนี้ แต่มีผู้รอดชีวิตน้อยมาก ต่อมานายพันตรีคาร์เตอร์ จากกองทัพสหราชอาณาจักรผู้รอดชีวิต ได้ตั้งอนุสรณ์สถานคินาบาลูขึ้น จากนั้นจึงมีชาวอังกฤษเข้ามาสำรวจพื่นที่และตั้งสถานที่แห่งนี้เป็นอุทยานคินาบาลู
ภูเขาคินาบาลู
ภาพจาก : http://worldheritage.routes.travel/world-heritage-site/kinabalu-park/
ที่ตั้ง
อุทยานคินาบาลู (Kinabalu Park) ตั้งอยู่ชายฝั่งด้านตะวันตกของรัฐซาบาห์ ในตอนเหนือสุดของเกาะบอร์เนียว ทางทิศตะวันออกของประเทศมาเลเซียความสำคัญและลักษณะทางธรรมชาติ
ภายในอุทยานคินาบาลู แบ่งเขตแหล่งที่อยู่ออกตามสภาพทางภูมิศาสตร์ออกได้เป็น 4 เขต ได้แก่ ป่า lowland dipterocarp ป่าสนเขา ทุ่งหญ้าบนที่สูง และพุ่มไม้บนยอดเขา จึงเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ทั้งพันธุ์ไม้ดอกตระกูลต่าง ๆกว่าครึ่งหนึ่งของพันธุ์ไม้ดอกที่มีอยู่ในโลก อีกทั้งเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของเกาะบอร์เนียว นกชนิดต่าง ๆ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อ่อนแอและเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์จำนวนมาก อุทยานคินาบาลู ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์กลางพันธ์พืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากพบพันธุ์ไม้ดอกสำคัญ ๆ ของเทือกเขาหิมาลัย จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย และพันธุ์ไม้เขตร้อนหลากหลายชนิดบริเวณภูเขาเป็นแหล่งที่พบกล้วยไม้และพืชกินแมลงหลายสายพันธุ์ ที่มีชื่อเสียง คือ สายพันธุ์ Nepenthes rajah และยังเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ประจำถิ่นอีกมากมาย เช่น ปลิงแดงยักษ์คินาบาลู ไส้เดือนยักษ์คินาบาลู นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าคินาบาลู ฯลฯ
ไม้ดอกที่เป็นเอกลักษณ์ของอุทยานคินาบาลู คือ ดอกบัวผุด หรือดอกแรฟเฟิลเซีย (Rafflesia arnoldii) เป็นดอกไม้ตระกูลกาฝาก ออกดอกในฤดูฝน มีดอกขนาดใหญ่และมีกลิ่นเหม็น ดอกบานภายในวันเดียวและบานทนอยู่ได้นาน 1 อาทิตย์ ดอกบัวผุดที่พบในอุทยานคินาบาลูมีอยู่ 16 สายพันธุ์
ดอกบัวผุด หรือดอกแรฟเฟิลเซีย
ภาพจาก : www.tropicaleasy.com/files/eg/tours/ eg_tours_Khao_Sok_Rafflesia_kerrii.html
หม้อข้าวหม้อแกงลิง หรือ Nepenthes rajah
พืชกินแมลงที่พบได้บนเขาคินาบาลู
ภาพจาก: en.wikipedia.org/wiki/Nepenthes_rajah
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
อุทยานคินาบาลู ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณามรดกโลกด้านธรรมชาติ จำนวน 2 ข้อ คือ
(ix) เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
(x) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
อ้างอิง :
ศุภลักษณ์ สนธิชัย. 2556. 100 World Heritage. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อทิตตา พับลิเคชั่น.
การท่องเทียวมาเลเซีย. “อุทยานคินาบาลู (Kinabalu Park)” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.tourism.gov.my/th-th/th/places/states-of-malaysia/sabah/kinabalu-park
(19 กรกฎาคม 2557).
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (25 สิงหาคม 2555). “Life Style : ท่องเที่ยว”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/travel/20120825/467239/
มรดกโลก-คินาบาลู.html (19 กรกฎาคม 2557).
UNESCO World Heritage Centre. “World Heritage List” [online]. Available http://whc.unesco.org/en/list/1012 (6 August 2014).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น