2557/07/20

มรดกโลกในไทย 1 : แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ประเภท : มรดกโลกทางวัฒนธรรม
ปีที่ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2535
ชื่อเป็นทางการ : แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) 
ที่ตั้ง : จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย
เรียบเรียง : กรรณิการ์  ยศตื้อ

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) 

ความเป็นมา

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่อยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ค้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และวิชาการของมนุษย์ รวมทั้งแสดงหลักฐานของการเกษตรกรรม แหล่งผลิตและการใช้โลหะในภูมิภาค ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัตศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน วัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่งเป็น บริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้เององค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่ง หนึ่งในบรรดามรดกโลก

ภาพจาก : http://kongpaa.blogspot.com/p/1.html

ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ

 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 60 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว 8 เมตร ราษฎรชาวบ้านเชียงในปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาว เมื่อ 200 ปีมาแล้ว

ความสำคัญ

ด้วยคุณค่าและความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างแก่ชุมชนในปัจจุบัน บ้านเชียงได้กลายเป็นหมู่บ้านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะแหล่งมรดกโลก ด้านวิชาการ ข้อมูล และโบราณวัตถุจำนวนมหาศาลได้รับการวิเคราะห์แปลความ  โดยนักโบราณคดีที่ทำการศึกษาตามหลักวิชาการ แต่อย่างไรก็ตามแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้ถูกลักลอบขุดค้น และซื้อขายในตลาดมืดกันอย่างมากมาย โดยทางราชการก็ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พุทธ-ศักราช 2535 รวมถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 189 ที่ห้ามการขุดค้นในพื้นที่บ้านเชียงและบริเวณโดยรอบ ปัจจุบันชุมชนบ้านเชียง ได้มีขยายตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น การสร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย จึงต้องเร่งกำหนดขอบพื้นที่ที่ชัดเจนและครอบคลุม เพื่อรักษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มิให้ถูกทำลายหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือร่วมใจกันของทุกองค์กร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญแห่งนี้ไว้ให้เป็นมรดกตกทอดต่ออนุชนรุ่นหลังต่อไป

ภาพจาก : http://52010911401.blogspot.com/2012/09/blog-post.html

ภาพจาก : http://theworldwider.net/travel/city-spotlight/city-guide-best-of-udon-thani/

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พุทธศักราช 2535 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยะธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว


อ้างอิง :
ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม . “แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture3.aspx  (9 กรกฎาคม 2557)

TrueLife. “5 แหล่งมรดกโลกในไทย มีที่ไหนบ้าง?” [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มาhttp://knowledge.truelife.com/content/detail/111544 ( 9 กรกฎาคม 2557)

4 comments: