2557/07/20

มรดกโลกในกัมพูชา 1 : เมืองพระนคร

ประเภท : มรดกโลกทางวัฒนธรรม
ปีที่ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2535
ชื่อเป็นทางการ : เมืองพระนคร (Angkor) 
ที่ตั้ง : จังหวัดเสียมราฐ (เสียมเรียบ) กัมพูชา
เรียบเรียงและภาพประกอบ : อุบลรัตน์  มีโชค

เมืองพระนคร (Angkor) 

ความเป็นมา


เมืองพระนคร หรือแองกอร์  (Angkor) คือหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองของอาณาจักรเขมรในอดีต ทั้งยังสะท้อนภูมิปัญญาอันชาญฉลาดทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมของบรรพชนขอมโบราณ ประวัติศาสตร์ของหมู่ปราสาทเมืองพระนครได้เริ่มต้นขึ้นหลังพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.1345-1378) ประกาศแยกแผ่นดินเป็นอิสระจากชวา และราชวงศ์ต่อมาได้สร้างราชธานีขึ้นที่หริหราลัย ตอนเหนือของโตนเลสาป หลังจากนั้นพระเจ้ายโศวรมัน ที่ 1 (ครองราชย์ค.ศ.1432-1453) ได้มีพระราชดำริย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ยโสธรปุระหรือเรียกกันภายหลังว่า “เมืองพระนคร” ถือเป็นยุคที่สร้างปราสาทร้อยแห่ง ในเวลาต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.1656 - ราว พ.ศ.1693) นครวัดอันยิ่งใหญ่ได้ถือกำเนิดขึ้น ภายหลังเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.1724 - 1761) โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวง ไปยังนครธมและยังได้สร้างปราสาทเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทบายน  ปราสาทตาพรม เป็นต้น

ที่ตั้ง

ตั้งอยู่ในเมืองพระนคร จังหวัดเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 310 กิโลเมตร

ความสำคัญและลักษณะทางสถาปัตยกรรม

เมืองพระนคร เป็นกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศกัมพูชา อุทยานโบราณสถานเมืองพระนครมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 400 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าและปราสาทหิน ประมาณว่าในเขตอุทยานโบราณสถานมีเทวลัยและ ปราสาทหินมากกว่า 100 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ เช่น นครวัดหรือปราสาทนครวัด นครธมหรือปราสาทนครธม  ปราสาทบายน ปราสาทบาปวน อาณาจักรเขมรมีความเชื่อตามศาสนาฮินดู โหราศาสตร์ และการบวงสรวงพระเจ้าและเทวราชาของตน ฉะนั้นสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้างของเขมรตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบอย่างหนึ่งโดยแนวเขตแดน แกน และตัวแปรทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ มีหน่วยวัดหรือขนาดโดยขึ้นอยู่กับขนาดของวัตถุและมีการแบ่งส่วนประกอบออกเป็นส่วน ๆ ตามตรรกะ โดยแต่ละส่วนจะสามารถวัดขนาดได้จากสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้แฝงไปด้วยแนวความคิดเกี่ยวกับศาสนา การบวงสรวง ปฏิทินและจักรวาลวิทยาด้วย โบราณสถานที่สำคัญในเมืองพระนครประกอบด้วย

ปราสาทนครวัด (Angkor Wat) เป็นศาสนสถานสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 โดยเป็นศาสนสถานประจำของพระองค์ ตัวเทวสถานได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จนเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญเพียงแห่งเดียวที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน เดิมนครวัดเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายพระวิษณุ ชื่อเดิมคือปราสาทวิษณุโลก หมายถึง “เทวลัยของพระวิษณุ” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธ นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีขนาดใหญ่มากถึง 200,000 ตารางเมตร ตัวปราสาทสูง 60 เมตร ยาว 100 เมตร และกว้าง 80 เมตร มีแผนผังที่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาท 5 หลังตั้งอยู่บนฐานสูงตามคติของศูนย์กลางจักรวาล มีคูน้ำล้อม รอบแทนทะเลสีทันดร (มหาสมุทรบนสวรรค์) ใช้เวลาสร้างร่วม 100 ปี ด้านกำแพงชั้นนอกรอบปราสาท มีความยาว 800 เมตร  มีภาพแกะสลักหินเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราวจากวรรณคดี และรูปแกะสลักนางอัปสรหรือเทพธิดาอีกถึง 1,635 รูป เป็นภาพแกะสลักนูนต่ำ ลักษณะเทพธิดาเหล่านี้คือ เท้าติดพื้น มองไปด้านหน้า อากัปกิริยาอ่อนช้อยยวนตา  เสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับแต่ละรูปแทบจะไม่ซ้ำกันเลย  ปราสาทนครวัดถือเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรมเขมรสมัยคลาสสิกรุ่งเรือง และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติโดยปรากฏในธงชาติของประเทศกัมพูชา

ภาพแกะสลักนางอัปสร นครวัด

ปราสาทนครธม  (Angkor Thom) นครธมเป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเป็นเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขอม มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของนครวัด จุดเด่นที่สุดคือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้าเทวพักตร์ 4 ด้าน ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่ 2 สะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมันเรียกว่า“ปราสาทบายน”

ปราสาทบายนในนครธม

ปราสาทบายน (Bayon)  ปราสาทบายนประกอบด้วยองค์ปราสาทตั้งอยู่บนฐานซ้อนสามชั้น สมมุติให้เป็นทิพยสถานของเทพเจ้าบนยอดเขาพระสุเมร ด้วยปรางค์จัตุรมุข สลักป็นรูปพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มี 216 หน้า รวม 54 ปรางศ์  หันพระพักตร์ออกไปทั้งสี่ทิศ เพื่อสอดส่องดูแลทุกข์สุขของเหล่าพสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข รอยยิ้มบนพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรร เรียกว่า "ยิ้มแบบบายน"
ภาพพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

เมืองพระนคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ "พระนคร" เมื่อปี พ.ศ. 2535 หลังจากสงครามกลางเมืองในเขมรยุติแล้ว องค์การยูเนสโกได้เข้ามาช่วยบูรณะฟื้นฟูปราสาทและได้จัดตั้งโครงการอย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันสถานที่และบริเวณโดยรอบ เมืองพระนครได้ถูกรับเลือกเป็นมรดกโลกโดยมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมจำนวน 4 ข้อ คือ
(i) เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
(ii) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
 (iv) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ


อ้างอิง :
รัชดา ธราภาค. “ราชอาณาจักรกัมพูชา” บริษัททวีพริ้นท์ (1991).กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 1

ศุภลักษณ์ สนธิชัย “100 มรดกโลก” สำนักพิมพ์อทิตตา. กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 2

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. “รายชื่อแหล่งมรดกโลกในทวีปเอเชีย” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/รายชื่อแหล่งมรดกโลกในทวีปเอเชีย (8 เมษายน 2557)

ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม. (2556). “แหล่งมรดกโลก” [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มาhttp://www.thaiwhic.go.th/heritage.aspx (13 ธันวาคม 2556)

สุทธินีย์ พรหมมาลี. “นครวัด หรือ แองกอร์” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://suttineemoticha.blogspot.com/2012/07/blog-post.htm (6 กรกฎาคม 2555)

UNESCO World Heritage Centre. “Angkor” [online].  Available http://whc.unesco.org/en/list/668.
(15 June 2014)

3 comments: