2558/09/09

ดอกไม้ประจำชาติประเทศสมาชิกอาเซียน

เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด, สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ดอกไม้ประจำชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนแสดงถึงประเทศ ดอกไม้ประจำชาติบางชาติมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมหรือศาสนาย้อนกลับไปหลายร้อยหรือหลายพัน ๆ ปี มีทั้งที่มีการรับรองอย่างเป็นทางการหรืออาจจะไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการก็ตาม

ดอกไม้ประจำชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่
แสตมป์ชุดดอกไม้ประจำชาติอาเซียน ซึ่งออกโดยไปรษณีย์ไทย เนื่องในโอกาสปีใหม่ 2556

1. รัฐบรูไนดารุสซาลาม

ดอกไม้ประจำชาติ รัฐบรูไนดารุสซาลาม คือดอก Simpor ภาษาอังกฤษเรียกว่า Dillenia suffruticosa คนไทยเรียกว่า ดอกส้านชะวา มีกลีบดอกสีเหลืองสดใสขนาดใหญ่ เมื่อบานอย่างเต็มที่กลีบดอกจะแผ่กระจายออกเหมือนร่ม

ดอก Simpor หรือ ส้านชวา

ต้น Simpor พบได้ทั่วไปตามแม่น้ำในประเทศบรูไน ภาพของดอก Simpor ปรากฎอยู่ในธนบัตรหนึ่งดอลลาร์บรูไน และนิยมใช้เป็นแบบลวดลายในการออกแบบงานศิลปะต่าง ๆ

ธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์บรูไน 

2. ราชอาณาจักรกัมพูชา 

ดอกลำดวน

ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา คือ ดอกลำดวน หรือ หอมนวล เป็นดอกไม้ขนาดเล็ก มีสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็นเป็นดอกเดี่ยวออกตามส่วนยอดและตามง่ามใบ มีกลีบดอก 6 กลีบ ซ้อนกันเป็นชั้น ปลายกลีบแหลม โคนกลีบดอกกว้าง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง กลิ่นหอมเย็น ออกดอกช่วง เดือนธันวาคม-มีนาคม

ลำดวนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 5–10 เมตร ผิวเปลือกลำต้นเป็นสีเทา ผิวต้นเรียบ มีรอยแตกเล็กน้อยแตก ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันตามข้อ ลำต้น ใบเป็นรูปหอก ยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบมนแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม สามารถพบได้เกือบทุกที่ในประเทศกัมพูชา นิยมปลูกเป็นไม้ตกแต่งในสวนสาธารณะ

3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ดอกไม้ประจำชาติของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย คือ Moon Orchid หรือ กล้วยไม้ราตรี เป็นกล้วยไม้ในสกุลฟาเลนนอปซิส (Phalaenopsis Amabilis) ในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า Angrek bulan เป็นดอกกล้วยไม้ที่บานนานที่สุด ช่อดอกอยู่ได้นานถึง 2-6 เดือน เจริญเติบโตได้ดีในที่มีอากาศชื้น พบได้ทั่วไปในที่ราบต่ำของอินโดนีเซีย

ดอกกล้วยไม้ราตรี (Moon Orchid)

กล้วยไม้ราตรีจัดเป็น 1 ใน 3 ของดอกไม้ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย อันประกอบด้วย
  • ดอกเมลาตี หรือดอกมะลิลา (Jasminum sambac)
  • ดอกกล้วยไม้ราตรี หรือ Moon Orchid 
  • ดอกบัวผุด หรือ Rafflesia arnoldii  
ดอกไม้ 3 ชนิดที่เป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย : กล้วยไม้ราตรี มะลิลา และบัวผุด

4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ดอกไม้ประจำชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ ดอกจำปา (Champa)  ซึ่งคนไทยเรียกวา จำปาลาว ลั่นทม ลีลาวดี

ดอกลั่นทม หรือจำปาลาว

จำปาลาว หรือ ลั่นทม เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม มีหลากหลายสี เช่น แดง เหลือง ชมพู และสีหวานๆ หลายสี สำหรับคนลาว ดอกจำปาลาว หมายถึงความจริงใจ และความสุขในชีวิต จึงมักใช้ตกแต่งในงานพิธี หรือทำพวงมาลัยสำหรับต้อนรับแขก ดอกจำปาลาวจะบานตลอดปี เป็นต้นไม้ที่ปลูกทั่วประเทศ

5. มาเลเซีย

ดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซีย คือ  Bunga raya (บูหงา-รายอ) หรือ ดอกพู่ระหง หรือชบาสีแดง

ดอกชบา

ดอกพู่ระหง หรือ ชบาสีแดง ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซียมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 โดยลักษณะห้ากลีบของดอกชบา ถือเป็นสัญลักษณ์แทน "ห้าหลักการของความเป็นชาติ" ซึ่งถือเป็นปรัชญาในการเสริมสร้างเอกภาพแห่งชาติของมาเลเซีย ในขณะที่สีแดง แสดงถึงความกล้าหาญ

6. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ดอกไม้ประจำชาติของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ คือ Paduak หรือ ดอกประดู่

ดอกประดู่

ประดู่ เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีดอกเป็นช่อออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองทอง บานในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ของพม่า เมื่อบานสะพรั่งเต็มที่ จะเปลี่ยนเป็นสีทองทั้งต้น

ชาวพม่าเปรียบดอกประดูเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรงอดทน และความรัก เป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญในพิธีทางศาสนา สามารถพบได้ทั่วประเทศ ลำต้นยังมีประโยชน์ในการใช้ทำเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย

7. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 

ดอกไม้ประจำชาติสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ คือ Sampaguita หรือ Jasminum sambac หรือ Arabian jasmine ในภาษาอังกฤษ เป็นดอกมะลิชนิดหนึ่ง มีกลีบรูปดาวสีขาว บานตลอดทั้งปี แย้มดอกตอนกลางคืน และมีกลิ่นหอม ชาวฟิลิปปินส์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมต้น และความเข้มแข็ง
ดอกมะลิ

8. สาธารณรัฐสิงคโปร์ 

ดอกไม้ประจำชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์ คือดอกกล้วยไม้สกุลแวนด้า สายพันธุ์ แวนด้า มิสโจเคียม (Vanda Miss Joaquim) เป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด พบได้ทั่วไปในประเทศสิงคโปร์ โดยตั้งชื่อตามผู้ผสมพันธุ์ มีสีม่วง รูปลักษณ์ที่สวยงาม อีกทั้งบานตลอดปี ถูกยกสถานะให้เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 1981

กล้วยไม้ แวนด้ามิสโจเคียม


9.  ราชอาณาจักรไทย

ดอกไม้ประจำชาติของไทย คือ ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกว่า คูน ทางภาคเหนือเรียกว่า ลมแล้ง ทางภาคใต้เรียกว่า ราชพฤกษ์ ลักเกลือ หรือ ลักเคย ชาวกะเหรี่ยงและในกาญจนบุรีเรียกว่า กุเพยะ

ดอกราชพฤกษ์ หรือ ดอกคูน

ราชพฤกษ์มีช่อดอกสีเหลืองที่สวยงาม ชาวไทยถือว่าสีเหลืองของดอกไม้ชนิดนี้ คือ สีของพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์ และเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีของคนไทย 

ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้มงคล นิยมใช้ประกอบพีธีที่สำคัญ เช่น พีธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล และ ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ฯลฯ ดอกราชพฤกษ์จะเริ่มบานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ขณะผลิบานต้นจะทิ้งใบ เหลือเพียงดอกสีเหลืองอร่าม

10. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ดอกไม้ประจำชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คือ ดอกบัวหลวงสีแดง ดอกบัวเป็นที่รู้จักในนาม “ดอกไม้แห่งรุ่งอรุณ” พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำของประเทศเวียดนาม

ดอกบัวหลวง

สำหรับชาวเวียดนามแล้ว ดอกบัวคือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดี ความสง่างามของดอกบัวมักถูกกล่าวถึงในบทกลอน และเพลงพื้นเมืองของประเทศเวียดนามเสมอ


อ้างอิง :
กรมอาเซียน, กระทรวงต่างประเทศ. บันทึกการเดินทางอาเซียน. พิมพ์ครั้งที่ 1.  หน้า 77-81. กรุงเทพฯ : วิธิตา แอนิเมชั่น, 2552.

Wikipedia free encyclopedia. Wikimedia Foundation. “Floral emblem” [Online].
Available http://en.wikipedia.org/wiki/Floral_emblem  (8 July 2015).

4 comments: